หากเพื่อนๆ ยังจำกันได้ เมื่อช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา ได้มีข่าวการขุดพบมัมมี่ลูกม้าจากยุคน้ำแข็ง ที่มีอายุกว่า 4,000 ปี ในเพอร์มาฟอสเกิดขึ้นที่ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย และนับว่ามีความสมบูรณ์มากๆ จนนักวิทยาศาสตร์คิดจะนำม้าตัวนี้ไปโคลนนิ่งเลย
(อ่านข่าวเก่าได้ที่ นักวิทย์พยายาม “โคลนนิ่ง” มัมมี่ลูกม้า 40,000 ปี หวังนำไปสู่การโคลนนิ่งแมมมอธในอนาคต)
เชื่อว่าในเวลานั้น คงมีหลายคนไม่น้อยที่รู้สึกตื่นเต้นกับข่าวนี้เป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่หลังจากข่าวการพยายามโคลนนิ่งลูกม้าถูกเปิดเผยออกมา เราก็แทบไม่ได้ยินข่าวใดๆ เกี่ยวกับการตรวจสอบมัมมี่ม้าตัวนี้อีกเลย
แต่แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ทางนักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการตรวจสอบลูกม้าตัวนี้ก็ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจชุดใหม่ของมัมมี่ที่พวกเขาพบอีกครั้ง โดยมีหัวข้อสำคัญอยู่ลูกม้าตัวนี้นั้นยังมี “เลือด” ที่คงสภาพเป็นของเหลวอยู่ภายในนั่นเอง
อ้างอิงจากข้อมูลการตรวจสอบชุดใหม่ล่าสุด ลูกม้าตัวนี้นั้นคาดกันว่าเสียชีวิตไปเมื่อ 42,170 ปีก่อน ดังนั้นเลือดของม้าที่ถูกพบในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเลือดของมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา (เก่าแก่กว่าเลือดช้างแมมมอธในปี 2018 ถึง 10,000 ปี)
เลือดที่ถูกพบในการทดลองครั้งนี้ สร้างความตกใจในหมู่ทีมนักวิจัยได้เป็นอย่างดี เพราะตามปกติแล้วเลือดของสัตว์ที่ตายไปเป็นเวลานานเช่นนี้ ส่วนมากจะอยู่ในสภาพที่แห้งเป็นผงจนไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้อีกต่อไปแล้วไม่ว่าจะจากภาวะอากาศหรือระยะเวลาที่มันถูกฝังไว้
แต่แม้ว่าการค้นพบเลือดเช่นนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนเชื่อว่าเราคงจะโคลนนิ่งลูกม้าตัวนี้ได้จริงๆ แล้วก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์กลับออกมาบอกว่าแท้จริงการพบเลือดในครั้งนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการโคลนนิ่งลูกม้าเลยแม้แต่น้อย
เพราะแม้ว่าเลือดที่พบจะยังเป็นน้ำถูกและสามารถเก็บตัวอย่างเม็ดเลือดแดงได้ก็ตาม แต่ในเม็ดเลือดแดง (erythrocytes) ไม่ได้มีนิวเคลียสที่มี DNA ซึ่งสามารถนำมาโคลนนิ่งได้แต่อย่างไร
ดังนั้นความหวังที่จะโคลนนิ่งมัมมี่ลูกม้าตัวนี้ จึงยังนับว่าริบหรี่ไม่เปลี่ยนแปลง แถมยิ่งเวลาผ่านไป โอกาสที่จะพบ DNA ในมัมมี่ลูกมาก็มีแต่จะลดลงด้วย
อย่างไรก็ตามการออกมารายงานความคืบหน้าของนักวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข่าวร้ายเพียงอย่างเดียว
เพราะหลังจากการตรวจสอบม้าตัวนี้จบลง พวกเขาก็จะมีกำหนดการที่จะส่งมัมมี่ลูกม้าไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่นเพื่อให้ประชาชนทั่วได้มีโอกาสได้ชม ในฐานะส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการแมมมอธ ที่จะจัดขึ้นในปี 2020 ต่อไป
ที่มา livescience, cnn และ themoscowtimes
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.