ตลอดหลายแสนปีที่ผ่านมา การวิวัฒนาการของมนุษย์ได้เปลี่ยนรูปร่างของเราไปตามความเหมาะสมในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหลังที่ตรงขึ้น กระดูกนิ้วที่ไม่โค้งงออีกต่อไป หรือแม้แต่สมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน
แต่ในระหว่างการวิวัฒนาการเหล่านี้เองในบางครั้งก็จะนำมาซึ่งอวัยวะที่ดูแล้วไม่จำเป็นกับร่างกายเท่าไหร่ได้เช่นกัน อย่างไส้ติ่ง ฟันคุด หรือกระดูกชิ้นเล็กๆ ที่เข่า ซึ่งอย่างหลังนี้เองก็เป็นสิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมาอย่างยาวนานว่าจะค่อยๆ หายไปเองตามระบบการวิวัฒนาการในอนาคต
แต่แล้ว ในงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2019 เหล่านักวิทยาศาสตร์กลับพบว่ากระดูกชิ้นเล็กๆ ที่เข่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Fabella” (มาจากภาษาละตินแปลว่า “ถั่วน้อย”) ไม่เพียงแต่ไม่ได้ค่อยๆ หายไปอย่างที่เราคิด แต่มันกลับมีแนวโน้มที่จะถูกพบมากขึ้นในปัจจุบันด้วย
เดิมทีแล้วที่ทีมแพทย์คิดว่ากระดูก Fabella จะค่อยๆ หายไปเองนั้นมาจากการเปรียบเทียบข้อมูลในปี 1875 ที่ระบุไว้ว่าเรามีการพบกระดูกตัวนี้ในมนุษย์ราวๆ 17.9% เข้ากับข้อมูลในปี 1918 ซึ่งมีการพบกระดูก Fabella ในมนุษย์ลดลงเหลือเพียงแค่ 11.2% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ว่ากระดูกเข่าชิ้นนี้จะหายไปเองในอนาคต
แต่แล้วจากการตรวจสอบกระดูกดังกล่าวในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์กลับพบกับตัวเลขแปลกๆ เกี่ยวกับกระดูก Fabella เข้า เพราะกระดูกตัวนี้ในปัจจุบันถูกพบในมนุษย์ถึง 39% ซึ่งนับว่ามากกว่าที่เคยเป็นมาราวๆ 3 เท่าเลย
นี่อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ดีเท่าไหร่สำหรับมนุษย์นักเพราะตั้งแต่ในสมัยก่อน ทีมแพทย์ได้ต้องข้อสังเกตว่ากระดูก Fabella นั้นอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับอาการโรคข้ออักเสบก็เป็นได้ ดังนั้นการที่เราพบกระดูกชิ้นนี้มากขึ้นในปัจจุบันก็อาจจะนำไปสู่จำนวนผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่มากขึ้นตามไปด้วย
คุณ Michael Berthaume หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่ากระดูก Fabella ในอดีตทำหน้าที่คล้ายแผ่นป้องกันการบาดเจ็บที่หัวเข่าให้กับมนุษย์ในสมัยก่อน
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าที่กระดูกชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะกลับมาในปัจจุบัน อาจจะมาจากการที่คนเรามีอาหารการกินที่ดีขึ้นจนร่างกายใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้นก่อให้เกิดภาระกับหัวเข่า จนร่างกายต้องนำกระดูกตัวนี้กลับมาเพื่อเสริมการป้องกันหัวเข่าของเราก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะใช้อธิบายการกลับมาของกระดูก Fabella เท่านั้น ส่วนเหตุผลจริงๆ ที่ทำให้กระดูกชิ้นนี้กลับมาจริงๆ แล้วคืออะไรนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมกันต่อไป
ที่มา livescience, bbc และ usatoday
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.