ในตอนที่เห็นโบราณสถานที่ทำจากหินยักษ์ (Megaliths) อย่างของที่เปรู จีน และอียิปต์ เชื่อว่าคงจะมีหลายๆ คนไม่น้อยที่สงสัยกันว่า คนในสมัยก่อนขนหินหนักๆ มาสร้างของเหล่านี้ได้อย่างไร
แน่นอนว่าเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานแม้แต่ในบรรดาเหล่านักโบราณคดี และนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานมากมายที่พยายามออกมาอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น
แต่แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง เหล่านักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “MIT” ก็ได้ออกมาทำการพิสูจน์หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความนิยมของการสร้างโบราณสถานจากหินยักษ์
นี่เป็นวิดีโอพิสูจน์ทฤษฎีการเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่โดยอาศัยแรงโน้มถ่วง การรักษาสมดุล และการงัด ด้วยการแสดงให้โลกเห็นว่าหากมีการเตรียมการที่ถูกต้อง มนุษย์เราก็สามารถเคลื่อนย้ายหินที่มีน้ำหนักถึง 25 ตันได้ แม้จะมีแรงงานอยู่เพียงไม่กี่คนก็ตาม
วิดีโอการลงมือขนหินยักษ์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
อย่างที่เห็นจากในวิดีโอ รูปร่างของหินที่ถูกใช้ในการสร้างโบราณสถานมีส่วนสำคัญมากในการขนย้าย เพราะรูปร่างของหินจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความหนาแน่นและจุดศูนย์ถ่วงของหิน ซึ่งทำให้หินขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างที่เหมาะสมสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับหินที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ
จริงอยู่ว่ารูปร่างของหินที่ทาง MIT ทำออกมาจะเป็นรูปร่างที่ผ่านการคิดค้นมาอย่างดี และล้ำสมัยกว่าที่พบในโบราณสถานจริงๆ มาก แต่หลักการการเคลื่อนย้ายหินของพวกเขานั้น ก็เป็นสิ่งที่พบได้ในโบราณสถานหลายๆ แห่งเช่นกัน
อย่างเทคนิคการอาศัยการประสานกันของหินที่เห็นในวิดีโอเอง ก็เป็นแบบเดียวกับที่ชาวอินคาเคยใช้เมื่อราวๆ 1,500 ปีก่อนในการสร้างกำแพงเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นมาในเวลาสั้นๆ
และการทดลองในครั้งนี้เองก็เชื่อกันว่าจะสามารถนำไปใช้อ้างอิงกระบวนการคิดของคนโบราณในการสร้างโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เหล่านักโบราณคดีสามารถเข้าใจสิ่งก่อสร้างในยุคโบราณมากขึ้น
ที่มา ancient-origins
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.