นักวิทยาศาสตร์อ้าง เราอาจสามารถเดินทางผ่านหลุมดำได้จริงๆ แต่มันไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิด

เชื่อว่าเพื่อนๆ คงเคยคิดกันมาบ้างว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคนถูกดูดเข้าไปในหลุมดำ และจะเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะสามารถเดินทางผ่านสถานที่และกาลเวลาได้โดยอาศัยหลุมดำแบบในหนัง

ซึ่งในงานประชุมของสมาคมฟิสิกส์อเมริกันเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้รวมตัวกันคิดค้นทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับหลุมดำ ที่ไม่เพียงอาจจะเป็นกุญแจไปสู่การเดินทางข้ามจักรวาล แต่ยังสามารถช่วยคนออกมาจากหลุมดำได้ด้วย

 

 

โดยทฤษฎีนี้อาศัยแนวคิดที่ว่าในอวกาศนั้นมี “รูหนอน” (Wormhole) เชื่อมหลุมดำสองแห่งที่อยู่ในสถานที่ที่ต่างกัน

ซึ่งที่ผ่านๆ มา เราเชื่อกันว่ารูหนอนเหล่านี้แม้จะมีอยู่แต่ก็คงไม่สามารถเดินทางผ่านไปยังอีกด้านได้จริงๆ โดยที่ไม่ทำให้รูหนอนพังไปเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้เอง เหล่านักฟิสิกส์ที่นำโดยคุณ Daniel Jafferis จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกมาอ้างว่า เราอาจจะสามารถเดินทางผ่านหลุมดำแห่งหนึ่งไปยังหลุมดำอีกแห่งได้จริงๆ โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ควอนตัมเอนแทงเกิลเมนต์” (Quantum entanglement)

 

 

ควอนตัมเอนแทงเกิลเมนต์นั้นหากจะให้อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด มันก็คือการที่เราเอาอนุภาคสองตัวมา “พัวพันกัน” และหากเราทำอะไรกับอนุภาคตัวหนึ่ง อานุภาคอีกตัวก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเทเลพอร์ตมาตั้งแต่ในอดีต

คุณ Jafferis บอกว่าหากเราสามารถหา หรือทำให้หลุมดำสองแห่งอยู่ในสภาพที่พัวพันกันด้วยควอนตัมเอนแทงเกิลเมนต์ได้ มันก็จะมีความเป็นไปได้ที่เราจะเดินทางจากหลุมดำแห่งหนึ่งไปโผล่ที่หลุมดำอีกแห่งได้นั่นเอง

 

 

อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อนเลย เพราะการที่จะหาหรือสร้างหลุมดำที่อยู่ในสภาพพัวพันกันอย่างสมบูรณ์นั้น มีโอกาสน้อยมากเสียยิ่งกว่าการถูกหวยรางวัลที่หนึ่งติดต่อกันเสียอีก

นอกจากนี้คุณ Jafferis ยังบอกอีกว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่าการเดินทางในหลุมดำนั้นอาจจะใช้เวลานานกว่าการเดินทางในอวกาศจากหลุมดำหนึ่งไปยังอีกหลุมดำหนึ่งอีกด้วย

ซึ่งหมายความว่าแม้เราจะสามารถใช้หลุมดำเดินทางได้จริงๆ สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพอยู่ดี

 

 

ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจในทฤษฎีใหม่นี้ หลักๆ แล้วจึงไม่ใช่ความเป็นไปได้ที่จะเดินทางข้ามหลุมดำ แต่เป็นโอกาสที่เราจะเก็บกู้ สิ่งที่เคยเข้าไปอยู่ในหลุมดำโดยเฉพาะของที่อยู่ในรูปแบบข้อมูลมากกว่า

เพราะหากทฤษฎีนี้เป็นจริง มันก็จะมีความเป็นไปได้สูงมากว่าข้อมูลเหล่านี้จะยังคงมีตัวตนอยู่ที่ไหนสักแห่งในจักรวาลนี้

และหากวันหนึ่งเราเผลอไปติดในหลุมดำขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยๆ เราก็ทราบได้ว่า ยังพอมีความเป็นไปได้ว่าเราจะถูกช่วยเหลือได้ แม้ว่าโอกาสจะน้อยมากก็ตาม

 

ที่มา livescience, edgy, express และ radio

Comments

Leave a Reply