ย้อนรอยดาบ “Shotel” ดาบโค้งแห่งเอธิโอเปีย อาวุธรูปร่างประหลาด ที่น้อยคนนักจะรู้จัก

ในพื้นที่ที่ต่างกันของโลกย่อมมีวัฒนธรรมที่ต่างกันไปด้วย และวัฒนธรรมที่ต่างกันเองก็จะนำมาซึ่งอาวุธที่มีเอกลักษณ์ต่างกันไปด้วย อย่างดาบ Ulfbehrt ของทางสแกนดิเนเวีย หรือคาตานะของแดนอาทิตย์อุทัย

ดังนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะบอกว่าในแถบเอธิโอเปียเอง พวกเขาก็จะมีอาวุธที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน

อาวุธชิ้นดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกว่า “Shotel” ดาบโค้งที่เต็มไปด้วยปริศนา และไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แม้ว่าตัวดาบเองจะมีลักษณะเด่นมากมายที่หาได้ยากในดาบอื่นๆ

 

 

ดาบ Shotel เป็นดาบในกลุ่มดาบโค้ง เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นในช่วง 980 ปีก่อนคริสตกาล และใช้งานกันมาในจักรวรรดิเอธิโอเปียมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 19

Shotel ตามปกติแล้วจะเป็นดาบสองคม ที่มีคมดาบยาวราวๆ 1 เมตร และมีความโค้งมากกว่าดาบโค้งทั่วๆ ไป จนในหลายๆ ครั้งดาบดังกล่าวก็มีรูปร่างเกือบคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นไปได้ว่าทำขึ้นเพื่อให้ดาบโค้งผ่านโล่ในระหว่างการต่อสู้ได้

 

Dejazmach Hailu จาก Hamasien หนึ่งในจังหวัดของประเทศเอริเทรียในสมัยก่อน หนึ่งในผู้ใช้งานดาบ Shotel

 

ดาบเล่มนี้มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดว่าใช้งานโดยชาว Damotian จากอาณาจักร D’mt ซึ่งเชื่อกันว่ามีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์มาจนถึงช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล

โดยเป็นการใช้งานทั้งโดยทหารราบและทหารม้า แถมยังมีหน่วยทหารที่ออกแบบมาเพื่อสู้โดยใช้ดาบแบบนี้โดยเฉพาะชื่อว่า Meshenitai

นับว่าน่าเสียดายมากที่แม้ดาบเล่มนี้จะมีประโยชน์ในการต่อสู้กับโล่มากก็ตาม มันกลับมีรูปทรงที่ยากต่อการใช้งาน เนื่องจากด้ามจับของดาบนั้นสั้นเกินไปทำให้ตัวดาบมีสมดุลที่ไม่ดีและมีความแม่นยำต่ำ

นอกจากนี้ความยาวและรูปทรงของมันยังทำให้ตัวดาบเก็บเข้าปลอกได้ลำบากอีกด้วย

 

 

จุดอ่อนนี้เองทำให้ชาวยุโรปคิดว่าดาบเล่มนี้ไม่ใช่อาวุธที่เหมาะสมกับนักรบเอาเสียเลย และใช้มันในฐานะเครื่องประดับเสียส่วนใหญ่

และด้วยความที่ดาบเล่มนี้มักถูกสร้างขึ้นแบบเรียบๆ ไม่ได้สวยงามน่าเก็บไว้ประดับบ้านเมื่อเทียบกับดาบอื่นๆ ดาบเล่มนี้จึงยิ่งกลายเป็นดาบที่ถูกลืมเข้าไปอีก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในหมู่คนที่รู้จักดาบเล่มนี้หรือในหมู่คนรักดาบแล้ว Shotel ก็ยังคงเป็นดาบที่มีสเน่ห์อีกเล่มหนึ่งของโลกเหมือนเดิม

 

 วิดีโอเกี่ยวกับดาบ Shotel จากช่อง El Rey Network

 

ที่มา ancient-origins

Comments

Leave a Reply