นักวิทย์ไขปริศนา 2,000 ปี หลังมีการพบรูกลมๆ กลางอกโครงกระดูกโบราณที่ประเทศกรีซ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 ในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เกาะธาซอส เกาะทางตอนเหนือของ หมู่เกาะอีเจียน ประเทศกรีซ เหล่านักโบราณคดีได้ทำการค้นพบ โครงกระดูกอายุ 2,000 ปีจำนวน 57 ร่าง ถูกฝังเอาไว้

 

 

ในบรรดาโครงกระดูกที่พวกเขาพบ มีอยู่ร่างหนึ่งที่นักโบราณคดีให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะที่กระดูกสันอกของเขามีรู ที่มีลักษณะกลมแบบเกือบสมบูรณ์อยู่ และเหล่านักโบราณคดีพยายามหาที่มาของมันมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ชายผู้เป็นเจ้าของโครงกระดูกนี้ เชื่อกันว่าเสียชีวิตในขณะที่มีอายุได้ 50 ปีมีส่วนสูงอยู่ที่ 170 เซนติเมตร และเมื่อทางทีมนักวิทยาศาสตร์ลองตรวจสอบเกี่ยวกับกายวิภาคกับโครงกระดูกดู พวกเขาก็พบว่าชายผู้นี้มีรูปร่างที่กำยำมากๆ ในยามที่ยังมีชีวิต

ในช่วงแรกๆ ที่มีการพบโครงกระดูก นักโบราณคดีคิดว่ารูที่กระดูกสันอกของชายคนนี้น่าจะมาจากอาการ “Sternal Foramen” กลุ่มอาการที่กระดูกสันอกของมนุษย์พัฒนาขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ซึ่งพบได้ในประชากรราวๆ 5% ของคนในปัจจุบัน

 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่การตรวจสอบดำเนินไป นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ารูบนกระดูกสันอกที่พวกเขาพบนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นจากการถูกแทงอย่างแรงด้วยอาวุธต่างหาก

เป็นไปได้ว่าเมื่อ 2,000 ปีก่อนชายคนนี้จะถูกสังหารด้วยอาวุธจำพวกหอกที่มีส่วนปลายเล็ก หรือที่เรียกว่ากันว่า “Styrax” โดยการสังหารเป็นการแทงหอกใส่ชายผู้เสียชีวิตโดยตรงจากระยะใกล้ด้วยความแม่นยำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าชายคนนี้น่าจะถูกประหาร ก่อนที่บาดแผลจะทำให้เขาเสียชีวิตไปภายใน 1 นาทีหลังจากถูกแทง

 

 

ในปัจจุบันนักโบราณคดียังไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมชายชนนี้จึงถูกสังหาร

อย่างไรก็ตามอย่างอิงจากภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในสมัยที่ชายคนดังกล่าวมีชีวิตอยู่ นักโบราณคดีก็คาดกันว่าชายคนดังกล่าวอาจจะถูกสังหารในระหว่างการลุกฮือของทหาร หรือไม่ก็ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็เป็นได้

เพราะจากการตรวจสอบฟันของชายคนดังกล่าวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าอาหารที่ชายผู้ตายได้รับ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงก่อนที่เขาจะถูกสังหารไม่นาน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเขาน่าจะถูกจับเป็นนักโทษในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง

 

 

ในปัจจุบันโครงกระดูกของชายคนดังกล่าวได้ถูกส่งไปเก็บรักษาไว้โดยพิพิธภัณฑ์โบราณคดีธาซอสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผลการค้นพบในครั้งนี้เอง ก็จะถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสาร Access Archaeology ต่อไปในอนาคต

 

ที่มา livescience

Comments

Leave a Reply