หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โลกของเราได้มีโอกาสพบกับเหตุการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง และกลายเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ว่าแต่เชื่อหรือไม่ว่าในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาในวันนั้น บนดวงจันทร์เองก็ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย โดยที่แทบไม่มีใครเลยที่รู้สึกตัว
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา วารสารดาราศาสตร์มีชื่ออย่าง Monthly Notice of the Royal Astronomical Society ได้ออกมาเปิดเผยว่าในระหว่างจันทรุปราคาเมื่อวันที่ 21 มกราคมนั้น ได้มีเหตุอุกกาบาตพุ่งเข้าชนดวงจันทร์เกิดขึ้นด้วย
อ้างอิงจากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา อุกกาบาตที่พุ่งเข้าชนดวงจันทร์ในวันนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราวๆ 30-60 เซนติเมตร พุ่งเข้าชนดวงจันทร์ด้วยความเร็วราวๆ 61,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำให้เกิดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตรแห่งใหม่ขึ้นบนดวงจันทร์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นถูกพบเห็นโดยเหล่านักดาราศาสตร์หลายคนทั่วโลก เนื่องจากในตอนที่การพุ่งชนเกิดขึ้นนั้น ได้เกิดแสงสว่างวาบที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตามกว่าที่พวกเขาจะระบุได้ว่าอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชนดวงจันทร์มีขนาดและรูปร่างอย่างไรนั้น มันก็หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาเป็นเดือน ในการตรวจสอบภาพที่มีการบันทึกไว้ในกล้องโทรทรรศน์แปดตัวทางตอนใต้ของสเปนเลย
พวกเขาบอกว่าแสงที่เกิดขึ้นนี้ มาจากอุณหภูมิของจุดปะทะที่พุ่งขึ้นสูงกว่า 5,400 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นความร้อนที่พอๆ กับพื้นผิวของดวงอาทิตย์ และสร้างแรงระเบิดที่เทียบเท่าได้กับ TNT 1.65 ตัน
นี่อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูสูง แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคิดเพราะอ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2016 ดวงจันทร์ของเราจะมีหลุมใหม่ๆ เกิดขึ้นถึงปีละ 140 หลุม
ที่เป็นเช่นนี้นั้น เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ ดังนั้นต่อให้อุกกาบาตลูกเล็กแค่ไหน มันก็จะสามารถชนเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์ได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ของชั้นบรรยากาศก่อนเช่นเดียวกับโลก
อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการที่อุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์นั้นจะเกิดขึ้นในตอนที่สภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มีแสงสว่างเกินกว่าที่เราจะเห็นการพุ่งชนได้ ดังนั้นเหตุอุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างครั้งนี้จึงถือว่าเป็นอะไรที่พบได้ยากมากๆ ครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้
ที่มา livescience และ cbc
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.