เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา กระทรวงโบราณวัตถุของประเทศอียิปต์ได้ออกมาประกาศการค้นพบ สุสานโบราณอายุ 4,500 ปี ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมหาพีระมิดแห่งกีซา
ภายในสุสานแห่งนี้ นักโบราณคดีได้พบกับหลุมฝังศพเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในหลุมฝังศพที่เก่าแก่ที่สุด เป็นของชาวอียิปต์โบราณสองคนซึ่งมีชื่อว่า “Behnui-Ka” และ “Nwi” ผู้ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อช่วงราชวงศ์ที่ห้า หรือเมื่อราวๆ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล
อ้างอิงจากจารึกในสุสาน Behnui-Ka เคยเป็นนักบวช และผู้พิพากษา ที่มีสมญานามมากมายอย่าง “ผู้ชำระล้างของฟาโรห์” และเคยทำงานให้กับฟาโรห์อย่างน้อยๆ ถึง 3 รุ่น ได้แก่ฟาโรห์คาเฟรผู้สร้าง 1 ใน 3 พีระมิดแห่งกีซา ฟาโรห์อูเซรคาฟ และฟาโรห์นิอูเซอร์เร
ส่วน Nwi เองก็มีตำแหน่งที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างเช่นกัน โดยเขาเป็นทั้ง “ผู้ชำระล้างของฟาโรห์” “ผู้นำของเมืองใหญ่” “ผู้ดูแลของการตั้งถิ่นฐานใหม่” และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่มีการถอดความออกมาจากจารึก
โดยนอกจากมัมมี่ทั้งสองร่างนี้แล้ว ในตัวสุสานยังมีวัตถุโบราณอยู่อีกเป็นจำนวนมากด้วย โดยหนึ่งในวัตถุโบราณที่น่าสนใจก็อย่างเช่น รูปปั้นหินปูนที่คาดกันว่าปั้นขึ้นโดยอ้างอิงรูปร่างหน้าตาของ Behnui-Ka หรือไม่ก็ Nwi หินแกะสลัก และหน้ากากที่ทำจากไม้
อ้างอิงจากนักโบราณคดี สุสานแห่งนี้มีร่องรอยว่าจะถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้งเมื่อราวๆ 2,600 ปีก่อน ทำให้ในสุสานแห่งนี้มีมัมมี่เก็บเอาไว้มากมายกว่าที่เคยเป็น ถึงอย่างนั้นก็ตามการนำสุสานโบราณกลับมาใช้งานอีกครั้งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในอียิปต์ในสมัยก่อน ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกสักเท่าไหร่
แน่นอนว่าในปัจจุบันการตรวจสอบสุสานแห่งนี้เองก็ยังคงมีการดำเนินการอยู่ อีกทั้งทีมนักวิทยาศาสตร์เองก็เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับสุสานที่ค้นพบแล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้มากที่เราจะได้เห็นข่าวการค้นพบที่น่าสนใจใหม่ๆ เกี่ยวกับสุสานแห่งนี้ในอนาคตอันใกล้
ที่มา ancient-origins และ livescience
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.