นักวิจัยพบสัตว์น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีใต้ทะเลลึก เชื่อมาจากนิวเคลียร์ช่วงสงครามเย็น

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันดีกว่าอิทธิพลการจากการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นส่งผลต่อธรรมชาติมากมายกว่าที่เราคิด เพราะในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเราแทบจะสามารถพบของเสียจากการใช้ชีวิตของมนุษย์อยู่ได้ในทุกๆ ที่ไม่เว้นแม้แต่ใต้ทะเลลึกเลย

 

 

และเมื่อล่าสุดนี้เอง เราก็ได้พบกับข่าวที่ไม่ดีเท่าไหร่เกี่ยวกับอิทธิพลการจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ต่อธรรมชาติอีกครั้ง เมื่อในงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เหล่านักวิจัยได้ออกมาบอกว่าพวกเขาพบร่องรอยของอนุภาคนิวเคลียร์ ลึกลงไปใต้น้ำทะเล 11 กิโลเมตร

โดยอนุภาคนิวเคลียร์ที่ถูกพบในครั้งนี้ ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อของสัตว์เปลือกแข็งอย่าง “แอมฟิพอด” ซึ่งอาศัยอยู่ในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาอันเป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก และเชื่อกันว่าเป็นอนุภาคนิวเคลียร์ ที่เกิดขึ้นจากการทดสอบระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามเย็น

 

ภาพของแอมฟิพอดสายพันธุ์ Lanceola clausi ซึ่งมีนักวิจัยพบว่าปนเปื้อนอนุภาคนิวเคลียร์

 

ทีมนักวิจัยบอกว่าสัตว์อย่างแอมฟิพอดนั้นมีความเหมาะสมสำหรับวัดค่าสารต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือพวกมันมีการวิวัฒนาการระบบการดูดซึมที่ช้า และลดการหมุนเวียนของเซลล์ลงเพื่อให้ร่างกายเก็บพลังงานไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน

ลักษณะร่างกายแบบนี้ทำให้พวกมันมักจะเก็บสารแปลกปลอมไว้ในร่างกายเป็นเวลานานกว่าสัตว์อื่นๆ มาก และหนึ่งในสารแปลกปลอมที่นักวิจัยพบว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากในร่างกายของมันก็คือ สารกัมมันตรังสีอย่าง Carbon-14 นั่นเอง

 

ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา สถานที่ซึ่งแอมฟิพอดถูกจับมาวิจัย

 

เป็นไปได้ว่าในอดีตแอมฟิพอดเหล่านี้จะกินเหยื่อที่ปนเปื้อน Carbon-14 และจมลงมาจากพื้นผิวของมหาสมุทรอีกที ซึ่งทำให้พวกมันมีปริมาณของ Carbon-14 อยู่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับภาวะแวดล้อมโดยรอบ

อ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ยังแต่ช่วงปี 1945-1963 ได้มีระเบิดนิวเคลียร์รวมๆ แล้วประมาณ 500 ลูกถูกทดลองจากทั้งทางสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต

ซึ่งการทดลองเหล่านี้เองก็ทำให้ปริมาณ Carbon-14 บนโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงมีปริมาณสูงกว่าก่อนยุคการทดลองนิวเคลียร์แม้แต่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่อย่างทะเล

 

 

นี่อาจจะเป็นการค้นพบที่น่ากลัวสำหรับหลายๆ คนก็จริงอยู่ แต่มันก็ไม่ใช่การค้นพบที่ทำให้เหล่านักวิจัยแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะแม้จะฟังดูน่าเศร้าก็ตามแต่ที่ผ่านๆ มามนุษย์เราก็พบร่องรอยการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสัตว์น้ำอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามการค้นพบสารกัมมันตรังสีในพื้นที่ที่ลึกที่สุดในโลกแทนนี้ก็แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่ามนุษย์เรานั้นเป็นอันตรายกับสภาพแวดล้อมโลกได้ขนาดไหน แม้ว่าเราอาจจะไม่คาดคิดก็ตาม

 

ที่มา allthatsinteresting, smithsonianmag

Comments

Leave a Reply