งานวิจัยใหม่เผย ที่มนุษย์สมัยก่อนกินกันเอง อาจเป็นเพราะการล่ามนุษย์ทำได้ง่ายกว่าสัตว์

เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะทราบกันว่า การที่มนุษย์กินกันเอง (Human cannibalism) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะหลักฐานการกินคนของมนุษย์ไม่ได้เพิ่งมามีเอาในสมัย Homo sapiens เท่านั้น

แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการกินคนนั้นสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยของ มนุษย์โบราณสายพันธุ์ Homo antecessor เมื่อ 900,000 ปีก่อน

สาเหตุที่มนุษย์เหล่านี้กินกันเองนั้น เราเคยเชื่อกันว่าเกิดจากการขาดแคลนอาหารอื่นๆ ในพื้นที่ อย่างไรก็ตามในงานวิจัยใหม่ล่าสุดนี้เอง ทางนักวิจัยได้ออกมาบอกว่าที่คนเรากินกันเองนั้นอาจจะมีเหตุผลมากกว่าแค่การขาดแคลนอาหารก็เป็นได้

 

 

นี่เป็นงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัย Centro Nacional de Investigación sobre la Evolución Humana (CENIEH) ซึ่งได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในสเปนพบว่า

มีกระดูกของมนุษย์ H. antecessor จำนวนอย่างน้อยๆ 22 ร่างที่มีร่องรอยของการถูกกินโดยมนุษย์ด้วยกัน

 

หนึ่งในกระดูกของ H. antecessor ที่เคยมีการค้นพบในสเปน

 

การค้นพบในครั้งนี้นับว่าน่าสนใจมาก เพราะพื้นที่ที่มีการค้นพบหลักฐานเหล่านี้ในสมัยก่อนน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ให้ล่าอยู่มากมาย มนุษย์จึงไม่น่าจะขาดแคลนอาหารจนถึงขั้นที่ต้องกินกันเองได้

พวกเขาสันนิษฐานว่า แม้สัตว์อื่นๆ ที่เป็นอาหารหลักของคนในสมัยนั้นอย่างแรด กวาง และม้าจะให้ปริมาณแคลอรี่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตสูงกว่าเนื้อมนุษย์มาก แต่พวกมันก็ต้องใช้เวลาในการล่าค่อนข้างนาน

โดยในบางครั้งนักล่าต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ในการไล่ล่าสัตว์สักตัว

 

 

การไล่ล่าสัตว์แบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังงานสูง และในบางครั้งก็ไม่คุ้มค่ากับปริมาณแคลอรี่ที่ได้กลับมา

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ว่ามนุษย์ H. antecessor จะหันไปมองเหยื่อชนิดใหม่ที่ล่าได้ง่ายกว่า และแน่นอนว่าเหยื่อที่ว่าก็คือมนุษย์นั่นเอง

“การตรวจสอบข้อมูลของพวกเราพบว่า มนุษย์ H. antecessor มีการเลือกเหยื่อโดยอาศัยหลักต้นทุนและผลประโยชน์ เช่นเดียวกับสัตว์นักล่าอื่นๆ” Jesús Rodríguez หนึ่งในนักวิจัยกล่าว

“ซึ่งหากคิดแบบนั้นแล้ว มนุษย์จะเป็นเหยื่อชั้นยอด นั่นเพราะหากเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ อาหารที่ได้จากการล่ามนุษย์นับว่าใช้ต้นทุนที่ต่ำนั่นเอง”

 

 

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Human Evolution ฉบับของเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งหากเพื่อนๆ อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเต็ม เพื่อนๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยกันได้ ที่นี่

 

ที่มา ancient-originslivescience และ sciencedirect

Comments

Leave a Reply