งานวิจัยบอก คนเราจะรักสุนัขหรือไม่ อาจมีตัวแปรสำคัญมาจาก DNA!!

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่าโลกของเรานั้นมีคนอยู่สองประเภท หนึ่งคือรักสุนัข และสองคือทาสแมว ซึ่งที่ผ่านๆ มาเราเคยเชื่อกันมาตลอดว่าเรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนเท่านั้น

ว่าแต่เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อล่าสุดนี้เอง เหล่านักวิจัยของประเทศอังกฤษและสวีเดนได้ทำการค้นพบใหม่ที่บอกว่า คนเรานั้นจะรักสุนัขหรือไม่ มันมีตัวแปรสำคัญจาก DNA ด้วย!!

 

 

นี่เป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่บอกว่า เด็กในบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงสุนัข มักจะมีแนวโน้มที่จะรับเลี้ยงสุนัขเมื่อโตตามไปด้วย โดยการทดลองครั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่การหาว่าลักษณะ DNA ของคนมีความเกี่ยวข้องกับการที่คนตัดสินใจรับเลี้ยงสุนัขหรือไม่นั่นเอง

ในการทำการวิจัยครั้งนี้ ทางนักวิจัยได้ทำการสำรวจคู่แฝด 35,035 คู่ ในประเทศสวีเดน ทั้งแบบที่เป็นแฝดแท้ซึ่งมีลักษณะ DNA ใกล้เคียงกัน และแฝดเทียมซึ่งมีลักษณะ DNA ค่อนข้างต่างกัน

โดยลักษณะของ DNA เหล่านี้เองคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ตัดสินว่า พันธุกรรมจะมีผลกับพฤติกรรมและความชอบของมนุษย์หรือไม่นั่นเอง เพราะหากคู่แฝดแท้มีปริมาณการรับเลี้ยงสุนัขที่มากกว่าหรือน้อยกว่า แฝดเทียมอย่างเห็นได้ชัด มันก็หมายความว่าลักษณะ DNA มีความเกี่ยวข้องกับความชอบ (หรือเกลียด) ตามไปด้วย

 

 

และเมื่อผลการวิจัยออกมา เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า คู่แฝดที่เป็นแฝดแท้จะมีโอกาสรับเลี้ยงสุนัขมากกว่า คู่แฝดที่เป็นแฝดเทียมถึง 50% ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่า พันธุกรรมอาจมีบทบาทสำคัญในความชอบของคน หรืออย่างน้อยๆ ก็ในการตัดสินใจเลี้ยงสุนัขจริงๆ

น่าเสียดายที่ตัวเลขที่ออกมานี้สามารถบอกเราได้เพียงแค่ว่า พันธุกรรมมีความเกี่ยวข้องกับที่มนุษย์ตัดสินใจเลี้ยงสุนัขก็เท่านั้น และยังไม่อาจชี้ชัดได้เลยว่าลักษณะทางพันธุกรรมแบบไหนกันแน่ที่ทำให้คนเล่ามีความรู้สึกอยากเลี้ยงสุนัขเช่นนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทีมวิจัยก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าพวกเขาจะพยายามทำการทดลองหายีนที่ส่งผลต่อความอยากเลี้ยงสุนัขต่อไปในอนาคต

และไม่แน่เหมือนกันว่าการศึกษา DNA ของเหล่าคนรักสุนัขเหล่านี้ อาจจะนำมาซึ่งความจริงเบื้องหลังการที่สุนัขกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 15,000 ปีก่อนเลยก็เป็นได้

 

 

ที่มา dailymail, sciencedaily และ nypost

Comments

Leave a Reply