จากไปอย่างสงบ… ความต้องการสุดท้ายของคนไข้ ‘ยุติเครื่องพยุงชีพ’ อำลาผู้เป็นที่รัก

มีพบ มีพราก มีจากลา ทุกชีวิตล้วนแล้วแต่ต้องเดินทางไปถึงจุดสิ้นสุด โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าพอถึงเวลานั้นแล้ว หลายๆ คนก็คงจะอยากให้ “ความปรารถนาสุดท้าย” ของตัวเองเป็นจริง

สำหรับคนไข้คนนี้ สิ่งที่เธอต้องการเป็นอย่างสุดท้ายของชีวิตก็คือ “การได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ” และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ญาติสนิท มิตรสหาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอุดรธานีทุกคน ตัดสินใจทำตามความปรารถนาของเธอ

 

ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (19 พ.ค. 2019)

 

นี่คือเรื่องราวที่ถูกแชร์โดยเพจ เมตตารักษ์ หน่วยดูแลประคับประคอง โรงพยาบาลอุดรธานี

คนไข้หญิงคนดังกล่าวป่วยด้วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ สมองบวม จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ทว่าภายหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น เธอกลับไม่รู้สึกตัวและไม่มีการตอบสนองใดๆ อีกเลย

คำขอสุดท้ายที่เธอได้บอกกับทุกๆ คนเอาไว้ในตอนที่ยังมีสติ คือคำพูดที่ว่า “อยากจากไปอย่างสงบ อย่ายื้อ อย่าเจาะคอ อย่าปั๊มหัวใจ”

สิ่งนั้นถือว่าเป็น “ความปรารถนาสุดท้าย” (Living Will) อย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันคือคำพูดอันทรงพลังที่ลูกๆ และคนที่รักเธอทุกคนยึดมั่น ตั้งใจว่าจะทำตามคำขอนี้

 

 

ในความกังวลปนความห่วงใย กับคำถามที่ว่า “เราทำถูกต้องมั้ย? สิ่งที่ทำเป็นการทำการุณยฆาตหรือเปล่า?” ท้ายที่สุดแล้วทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็เลือกที่จะแน่วแน่ทำตามความต้องการของเธอ

การตัดสินใจในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง “จิตใจอันเข้มแข็ง” , “ความเคารพรัก” และ “การให้เกียรติในการตัดสินใจ” ที่ลูกๆ ทุกคนมีให้ต่อแม่ของพวกเขา

ท้ายที่สุดแล้ว ทางโรงพยาบาลจึงตัดสินใจย้ายคนไข้มายัง “หอผู้ป่วยเบาใจ” สถานที่ที่ทุกคนจะสามารถใช้เวลากล่าวคำพูดสุดท้ายกับคนไข้ได้อย่างเต็มที่

ก่อนที่จะถอดท่อช่วยหายใจ พวกเขาทุกคนก็ได้มีโอกาสขอขมาในสิ่งที่เคยอาจล่วงเกินไป

 

 

และแพทย์ก็ได้ทำการยุติเครื่องพยุงชีพ ถอดท่อออกมาในที่สุด ไม่มีการเข้าแทรกแซงใดๆ ปล่อยให้เวลาที่เหลืออยู่ของคนไข้เป็นไปตามธรรมชาติ

สำหรับเรื่องนี้ ทางโรงพยาบาลกล่าวว่า “การยุติเครื่องพยุงชีพจึงไม่ใช่การทำการุณยฆาต แต่เป็นการยอมรับการตายตามธรรมชาติ”

หลังจากนั้น บุคลากรโรงพยาบาลมีหน้าที่แค่ให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดเสมหะ ลดอาการหอบ ปล่อยให้ญาติๆ ทุกคนได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด กระซิบข้างหู สัมผัสเบาๆ อย่างแสนอบอุ่น

 

โพสต์เรื่องราวดังกล่าว

 

กลับกัน ทีมแพทย์มองว่าหากคนไข้ยังคงต้องรับการยื้อชีวิต ไม่เป็นไปตามความต้องการสุดท้ายของเธอ เราก็ไม่อาจรู้หรอกว่าเธอจะเจ็บหรือไม่ เธอยังมีความรู้สึกอยู่หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือนั่น “ไม่ใช่ความต้องการของเธอ”

Living will หรือ “ความต้องการสุดท้าย” จึงจำเป็นมาก บอกลูกหลานญาติมิตรให้รับทราบ เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะได้รับการดูแลตามความต้องการอย่างสมศักดิ์ศรี

 

 

ทางโรงพยาบาลได้อธิบายถึง “การทำตามความต้องการครั้งสุดท้าย”

 

ลูกของผู้ที่จากโลกนี้ไป เข้ามาอธิบายความรู้สึกในตอนนั้น

 

ที่มา: เมตตารักษ์ หน่วยดูแลประคับประคอง โรงพยาบาลอุดรธานี


by

Tags:

Comments

Leave a Reply