คำเตือน: บทความนี้อาจมีภาพของโรคซิฟิลิสที่มีความน่ากลัวอยู่บ้าง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม
ด้วยความกลับมาระบาดอีกครั้งของโรค ‘ซิฟิลิส’ คุณหมอท่านหนึ่งจึงมาแชร์เคสตัวอย่างของคนไข้ที่เป็นโรคนี้ให้ชาวโซเชียลได้เห็น เพื่ออยากจะให้วัยรุ่นตระหนักถึงโรคนี้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม!!
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ‘ซิฟิลิส’ แบบคร่าวๆ กันก่อน
ข้อมูลจากทางเว็บไซต์ honestdocs เขียนเอาไว้ว่าซิฟิลิสคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ที่มีขนาดเล็กมาก และสามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย
โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกับแผลที่เกิดจากโรค โดยแผลที่ว่านี้มักจะเกิดขึ้นแถวๆ อวัยวะเพศ ช่องคลอด รวมถึงทวารหนัก ดังนั้นเชื้อจึงมีการส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้
ส่วนวิธีป้องกันที่ทางเว็บไซต์แนะนำคือให้ใช้ถุงยางอนามัยในยามมีเพศสัมพันธ์ และพยายามไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ นั่นเอง
และที่สำคัญคือปัจจุบันซิฟิลิสได้กลับมาระบาดอีกครั้งแล้ว…
เคสที่คุณหมอนำมาแชร์
เฟซบุ๊ก Niwat Polnikorn ได้แชร์ถึงเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 ซึ่งทางโพสต์ได้ใส่คำอธิบายเอาไว้ว่า
“วันนี้มีคนไข้ชายหนุ่มมาตรวจเรื่องตุ่มไม่คันตามตัว ในปาก อวัยวะเพศ ผมร่วงหย่อม ตรวจแล้วตกใจมากเพราะไม่เจอโรคนี้มาสิบกว่าปีแล้ว
ตั้งแต่มีการระบาดของ HIV และมีการควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ จนโรคกลุ่มนี้หายไปหมด
คนไข้รายนี้เป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สองยืนยันจากการส่งตรวจเลือด VDRL และ TPHA และผู้ป่วยให้ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาและอดีตแฟนเท่านั้น
แสดงว่าขณะนี้ได้มีการแพร่ของโรคซิฟิลิสกลับมาใหม่และมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับเพื่อนหรือแฟน
การควบคุมแพร่โรคในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สำส่อนทำได้ยากกว่าการควบคุมในหญิงบริการ ซึ่งเคยเป็นแหล่งแพร่โรคในอดีตมาก
ผมจึงรู้สึกตกใจที่เรากำลังจะเจอกับการระบาดใหม่ของซิฟิลิสอีกครั้ง เราจะได้เห็นทารกพิการ และโรคซิฟิลิสชนิดแพร่กระจายทำลายระบบประสาทและหัวใจอีกครั้ง
การรักษาต้องใช้ยาฉีดเพนนิซิลิน เบนซาทีนขนาดสูงเท่านั้น และยานี้ สถานพยาบาลต่างๆ ไม่มีอยู่ในห้องยามานานแล้ว
เราจะทำอย่างไรให้คนหนุ่มสาวของเราตระหนักในปัญหานี้ ละเว้นการสำส่อนทางเพศหรือใช้การป้องกันโรคทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์”
โพสต์ของคุณหมอได้รับการแชร์ออกไปแล้วเกือบๆ 2,000 ครั้ง ซึ่งนี่อาจเป็นอีกกรณีหนึ่งทำให้เราเห็นถึงความรุนแรงของโรคซิฟิลิส รวมทั้งยังเป็นกระตุ้นให้เราตระหนักถึงการระวังโรคนี้มากขึ้นด้วย
ที่มา: Niwat Polnikorn, honestdocs
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.