สำหรับมนุษย์เราแล้ว จะบอกว่า “เบียร์” เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับเรามาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอารยธรรมเลยก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ไม่ว่าจะเป็นในยุคไหน เราก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามตามหารสชาติของเบียร์โบราณที่คนสมัยก่อนเขาดื่มกัน
โดยหนึ่งในกลุ่มคนที่กล่าวมานี้ ก็คือเหล่านักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำทีมโดยคุณ Ronen Hazan จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ซึ่งออกเดินทางไปตามโบราณสถานของชาวอียิปต์โบราณ ชาวฟิลิสเตีย และชาวจูเดียน เก่าแก่ที่สุดถึง 5,000 ปี เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างเหยือกเซรามิก
เป้าหมายของพวกเขาคือการรวบรวมร่องรอยของ “ยีสต์” ที่เหลืออยู่ตามวัตถุโบราณเหล่านี้ เพื่อนำมาเพาะพันธุ์และ “คืนชีพ” ให้กับเบียร์โบราณอีกครั้งด้วยการหมักบ่มมันขึ้นมาจากยีสต์ตัวเดียวกับที่คนสมัยก่อนเคยใช้
และแล้วเมื่อวันพุธที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง เหล่าวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็ได้ออกมาประกาศความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขาจนได้ เมื่อการเพาะพันธุ์ยีสต์โบราณของพวกเขาเสร็จสิ้นลงได้ด้วยดี แถมพวกเขายังสามารถนำยีสต์เหล่านี้ไปทำเป็นเบียร์ซึ่งสามารถดื่มได้จริงๆ แล้วอีกด้วย
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของเหล่าผู้ผลิตเบียร์จากเยรูซาเล็ม และเป็นเบียร์ที่มีการผสมส่วนผสมที่ทันสมัยอย่างฮ๊อปซึ่งไม่ได้มีการใช้งานในสมัยตะวันออกกลางโบราณไปด้วย
แต่ถึงแม้จะมีการผสมส่วนผสมสมัยใหม่ไปด้วยก็ตาม เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงยืนยันว่ารสชาติส่วนมากของเบียร์ที่พวกเขาทำขึ้น ยังคงมาจากยีสต์เก่าแก่อย่างแน่นอน แถมที่สำคัญคือรสชาติที่ออกมานั้น ยังคงมีเอกลักษณ์แบบในอดีตอย่างไม่น่าเชื่อ
โดยคุณ Shmuel Naky หนึ่งในผู้ผลิตเบียร์จากศูนย์เบียร์เยรูซาเลม ที่ช่วยเหลือการทำเบียร์ในครั้งนี้บอกว่า เบียร์ที่ออกมานั้น “มีความเผ็ด และสัมผัสของผลไม้เล็กน้อย ซึ่งโดยรวมแล้วนับว่าเป็นรสชาติที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้ทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้ผลิตเบียร์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต่อไปพวกเขาจะนำยีสต์เก่าแก่เหล่านี้ ไปทำเบียร์อีกครั้ง โดยอ้างอิงสูตรเบียร์จากในอดีตอย่างแท้จริง เพื่อสร้างเบียร์โบราณที่มีรสชาติเหมือนกันในอดีตมากที่สุดขึ้นมาต่อไป
ที่มา foxnews, ancient-origins และ allthatsinteresting
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.