ชาวบ้านขอคัดค้าน ‘การจะทำเหมืองแร่ถ่านหิน’ ในเชียงใหม่ กระทบทั้งคนและสิ่งแวดล้อม

สำหรับช่วงนี้ เชื่อว่าพวกเราแทบทั้งหมดอาจมุ่งความสนใจไปที่ “การเปิดประชุมสภา” ซึ่งอาจถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ณ พื้นที่อันห่างไกลแห่งหนึ่งของประเทศไทย คนในพื้นที่นั้นก็กำลังเกิดข้อถกเถียงกันถึงเรื่องที่เราอาจไม่เคยรับรู้กันมาก่อน กับ “การยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน”

 

กลุ่มชาวบ้านแถลงการณ์ คัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน

 

เกิดอะไรขึ้น ณ ที่แห่งนั้น…

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน บ้านกะเบอะดิน หมู่ 12 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อ บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้มี “การยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหิน” จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

โดยเนื้อที่ที่ร้องขอนั้นจดทะเบียนเอาไว้ที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา ซึ่งคำขอนั้นก็ทำให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐนำเรื่องไป “ปิดประกาศ” ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย ในวันที่ 26 เมษายน 2019

ประกาศข้อมูลการยื่นคำขอดังกล่าวก็ได้ถูกพูดถึงต่อๆ กันไป ประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่นั้นได้รับรู้ถึงข้อมูลนี้แล้วก็มองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่พวกเขาจะรับได้ จึงออกมาคัดค้านในเรื่องนี้

 

ภาพตัวอย่างการทำเหมืองแร่ ในพื้นที่อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น

 

หากมี “เหมืองแร่ถ่านหิน” จะส่งผลกระทบอะไรกับชาวบ้านบ้าง??

กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากได้นำเรื่องราวดังกล่าวออกมา “แถลงการณ์คัดค้าน” ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 ว่า…

“หากมีการทำเหมืองแร่ถ่านหินจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสุขภาพของคนในชุมชน และวิถีชีวิตของพี่น้อง ‘กะเหรี่ยงโพล่ง’ ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานาน”

 

 

พวกเขายังกล่าวไปถึง “ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม” ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะการใช้พลังงานถ่านหินในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของ “ปัญหาโลกร้อน” นั่นเท่ากับว่านี่คือการกระทำที่สวนทางกับการรณรงค์ในทั่วโลก ที่ต่างมองหาพลังงานสะอาดมาทดแทน

 

 

คำเรียกร้องของชาวบ้าน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1. ขอให้ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณายกเลิกการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินกับบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ทันที

2. ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องไปสร้างความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่โดยเด็ดขาด

พร้อมทั้งมีกระบวนการเยียวยาจิตใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว

 

 

3. ขอให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ ต้องยอมรับและเคารพในวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมและให้การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

โดยสิ่งนั้นเป็นไปตาม มาตรา ๗๐ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่รัฐบาลได้ร่วมลงนามรับรองไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แล้ว

 

ทั้งนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทางภาครัฐจะรับเรื่องคัดค้านดังกล่าวหรือไม่ต่อไป

 

ที่มา: IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง


by

Tags:

Comments

Leave a Reply