ย้อนรอยเหตุ “เช็กพอยท์ชาร์ลี” เมื่อรถถังสหรัฐฯ และโซเวียต ประจันหน้ากันยาวนาน 16 ชม.

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันดีว่าในช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเรียกได้ว่าไม่ได้มีการรบกัน “โดยตรง” ซึ่งก็คงต้องบอกว่าดีแล้ว เพราะหากสองมหาอำนาจนี้รบกันตรงๆ ขึ้นมาจริงๆ โลกเราก็มีโอกาสสูงมากที่จะตกอยู่ในสงครามนิวเคลียร์แบบเต็มรูปแบบ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในช่วงสงครามเย็นนั้น ก็มีเหตุการณ์หลายครั้งเหลือเกินที่เป็นจุดเสี่ยงการเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญๆ ในเวลานั้นก็คงไม่พ้นการประจันหน้ากันที่เช็กพอยท์ชาร์ลีนั่นเอง

 

 

นี่เป็นเหตุการณ์ตึงเครียดที่กินเวลาราวๆ 16 ชั่วโมง ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1961 ราวๆ สองเดือนหลังจากที่มีการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกที่โอบอยู่โดยรอบ

โดยสาเหตุของการประจันหน้าในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่วันหนึ่งนักการเมืองอเมริกันต้องการข้ามไปยังฝั่งเบอร์ลินตะวันออกที่ถูกควบคุมโซเวียต ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่กลับโดนขอตรวจเอกสารและปฏิเสธการข้ามชายแดน ทำให้มีการโต้เถียงรุนแรงเกิดขึ้น

ดังนั้นเพื่อแสดงพลังอำนาจสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นจึงนำรถถัง 10 คันมาจอดที่ชายแดน ห่างจากเช็กพอยท์ชาร์ลีราวๆ 50 เมตร ก่อนที่เรื่องจะรู้ไปถึงหูของผู้นำโซเวียต “นีกีตา ครุชชอฟ” ผู้ซึ่งในเวลานั้นมีการสั่งให้ทางทหารนำรถถังจำนวนเท่ากันมาจอดประจันหน้าห่างจากเช็กพอยท์ 50 เมตร เป็นการตอบโต้

 

 

นี่นับว่าเป็นความขัดแย้งโดยตรงครั้งแรก (และเผลอๆ จะเป็นครั้งเดียวด้วย) ระหว่างโซเวียตและสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นเลยก็ว่าได้ และภาพของรถถัง 20 คันประจันหน้ากันก็สร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะหากมีการยิงกันเกิดขึ้นจริงๆ ความขัดแย้งครั้งนี้จะต้องไม่จบลงแค่ที่รถถังอย่างแน่นอน

นับว่าโชคดีมากที่ “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลานั้นเข้าใจถึงความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์เป็นอย่างดี ดังนั้นเข้าจึงเสนอข้อตกลงกับทางโซเวียตว่าหากโซเวียตถอนกำลังรถถังออกไป ทางสหรัฐฯ ก็จะถอนกำลังออกไปเท่าๆ กันด้วย

 

 

ข้อตกลงนี้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากทั้งสองฝ่าย ดังนั้นทั้งคู่จึงค่อยๆ ถอนรถถังออกไปจากการประจันหน้าทีละคัน จนในที่สุดเช็กพอยท์ชาร์ลีก็กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และโลกของเราสามารถหลีกเลี่ยงการกลายเป็นดินแดนรกร้างไปได้ด้วยประการฉะนี้

 

 

 

ที่มา rarehistoricalphotos

Comments

Leave a Reply