“การสะท้อนสังคม” มีออกมาให้เห็นในหลายๆ รูปแบบ ทั้งจากงานศิลปะภาพวาดต่างๆ , บทความหนังสือวรรณกรรม หรือแม้แต่ “บทเพลง” เองก็ด้วย
สำหรับ “เพลงสะท้อนสังคม” ที่กล่าวถึงการเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ที่เราต้องเผชิญ เพลงในลักษณะนั้นมีออกมาให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับ “เพลงแรป”
ยกตัวอย่างเพลง Fuck Tha Police ของกลุ่มศิลปิน N.W.A. (สหรัฐอเมริกา)
เพลง This Is America ของ Childish Gambino (สหรัฐอเมริกา)
หรือเพลง ประเทศกูมี ของกลุ่มศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP (ไทย)
เราจะเห็นได้ว่าเพลงลักษณะนั้นจะมีออกมาให้เห็นในหลากหลายประเทศ และมักจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเราอาจพูดได้ว่ามันเป็นการ “พูดในสิ่งที่ปกติแล้วพวกเราไม่อาจพูดออกมาตรงๆ ได้”
แต่ในขณะเดียวกัน เพลงแบบเดียวกันนั้นก็อาจนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจให้กับภาครัฐ เหมือนอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เมื่อแรปเปอร์หนุ่มคนหนึ่งจำเป็นต้องลบผลงานเพลงของตัวเองออกไป
Chhun Dymey หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dymey-Cambo คือแรปเปอร์ชาวกัมพูชาวัย 24 ปี ซึ่งเขาเพิ่งได้ออกเพลงใหม่ในชื่อว่า Sangkum Nis (แปลว่า “สังคมนี้”) และเกิดเป็นกระแสในช่วงวันที่ 13 พฤษภาคม 2019
เนื้อหาของเพลง “สังคมนี้” กล่าวถึงความไม่ยุติธรรมในสังคม ปัญหาการคอร์รัปชั่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเขาก็ได้ประณามรัฐบาลกัมพูชาในทางอ้อมว่า “เป็นตัวการของปัญหาทั้งหมด”
ภาพปกเพลง “สังคมนี้” โดยศิลปิน Dymey-Cambo
หลังจากที่บทเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมามันก็ได้กลายเป็นปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลกัมพูชาเป็นอย่างมาก
ไม่ใช่แค่เพียงเพราะเนื้อหาเพลงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาและต่อว่ารัฐบาลทั้งอ้อม แต่ยังรวมไปถึงการที่ สม รังสี นักการเมืองและอดีตผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ได้ทำการแชร์เพลงดังกล่าวออกไปด้วย
หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ Dymey-Cambo ก็ต้องเจอกับการถูกกดดันโดยภาครัฐอย่างหนัก จนถึงขั้นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาเยี่ยมหาพ่อแม่ของเขาถึงบ้านเลย
ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะพ่อของเขายังถูกเรียกตัวไปพบ พร้อมแจ้งว่า “ลูกของคุณกำลังเผยแพร่บางสิ่งที่เป็นปัญหาร้ายแรงอยู่ตอนนี้” และขอให้ผู้เป็นพ่อมาบอกกับเขาว่า “จงลบเพลงนั้นออกไปซะ”
ในตอนแรกเขาก็เลือกที่จะไม่ลบ แต่แรปเปอร์หนุ่มก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่คอยด้อมๆ มองๆ อยู่รอบบริเวณบ้านตลอด ทำให้เขาตัดสินใจลบมันออกไปในที่สุด
“ผมรู้สึกแย่มากๆ เพราะผมไม่มีทางเลือกเลย ทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดคือการลบเพลงนั้นออกไป” Dymey-Combo กล่าว
ถึงอย่างนั้น นายสม รังสี ก็ได้ทำการเซฟเพลง “สังคมนี้” เอาไว้ และนำมาเผยแพร่ทางช่องยูทูบของตัวเอง โดยเรียกเพลงนี้ว่าเป็นการ “พูดถึงความเป็นจริงของสังคมกัมพูชา”
ที่มา: scmp , phnompenhpost
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.