ในช่วงนี้ หลายๆ คนอาจกำลังให้ความสนใจไปที่ “ข่าวการเมือง” ที่กำลังมีความร้อนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่มาพร้อมกับคำพูดติดหูอย่าง “อีช่อ” ด้วยแล้ว…
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่หลายๆ คนให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวอยู่ ข่าวเรื่องของการคมนาคมใน กทม. เองก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการสร้าง “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” !!
ในวันที่ 28 พ.ค. 2019 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เขาได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่าทาง ครม. มีมติอนุมัติ เห็นชอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว
สนามบินทั้ง 3 แห่งที่จะมีรถไฟความเร็วสูงมาเชื่อมถึงกันนั้น ได้แก่ สนามบินดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
นายณัฐพร โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ
และสำหรับกลุ่มเอกชนที่ร่วมลงทุนกับ รฟท. ในครั้งนี้ก็คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)
กลุ่มเอกชนดังกล่าวนั้นได้รับการคัดเลือกตาม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ
ทาง ครม. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบรายจ่ายประจำปี เพื่อนำไปชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในครั้งนี้ ตามวงเงิน 149,650 ล้านบาท
โดย รฟท. จะชำระเงินที่รัฐนำมาร่วมลงทุนให้กับกลุ่มเอกชน CPH ด้วยการแบ่งจ่ายรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10 ปี
มูลค่าลงทุนของโครงการนี้เมื่อรวมในส่วนของกลุ่มเอกชนด้วยแล้วจะอยู่ที่ 224,500 ล้านบาท เลยทีเดียว
อย่างที่เราเห็นว่า เงินที่รัฐร่วมลงทุนในครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย ถึงอย่างนั้นก็อาจถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากดูในผลลัพธ์ระยะยาว
นายณัฐพร กล่าวว่า กลุ่ม CPH นั้นจะมีอายุสัมปทานทั้งสิ้น 50 ปี โดยทางกลุ่มเอกชนดังกล่าวจะเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ
หลังจากครบกำหนด 50 ปีแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ และมูลค่าในตอนนั้นคิดเป็น 300,000 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้จะเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2019 นี้ และคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2024 เป็นต้นไป
ที่มา: bangkokbiznews , posttoday , thaipbs
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.