ฟอสซิลปลาอายุ 50 ล้านปีที่ญี่ปุ่นชี้ ปลามีการว่ายน้ำเป็นฝูงมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

ที่ภายในของพิพิธภัณฑ์มิซุตะในประเทศญี่ปุ่น พวกเขายังมีฟอสซิลโบราณอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 48-53 ล้านปี และเป็นของปลาตัวน้อยๆ 259 ตัวที่กำลังว่ายน้ำกันอยู่เป็นฝูง ไม่ต่างอะไรกับปลาหลายๆ ชนิดในปัจจุบัน

 

 

ฟอสซิลที่ว่านี้ เดิมทีแล้วแม้จะมีความเก่าแก่สูงแต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงสำคัญอะไรมากนัก จนกระทั่งทีมนักวิทยาศาสตร์จากรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกาได้ไปเห็นเข้า และพบว่าฟอสซิลชิ้นนี้ จริงๆ แล้วมีความสำคัญต่อนักบรรพชีวินเป็นอย่างมากเลย

นั่นเพราะฟอสซิลชิ้นนี้ แท้จริงแล้วเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่เราเคยพบซึ่งแสดงให้เห็นการว่ายน้ำเป็นกลุ่มของปลาตัวเล็กๆ ในอดีตเลยนั่นเอง

อ้างอิงจากการตรวจสอบปลาบนฟอสซิลภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และทางพิพิธภัณฑ์ พวกเขาก็พบว่าฟอสซิลชิ้นนี้ แท้จริงแล้วน่าจะมีต้นกำเนิดจากที่ “Green River Formation” ชั้นธรณีในโคโลราโด และเป็นของปลาสายพันธุ์ Erismatopterus levatus

 

 

ปลาเหล่านี้นั้น เชื่อกันว่ากลายเป็นฟอสซิลหลังจากที่ทรายใต้น้ำพัดกลบพวกมันในอดีต ซึ่งอ้างอิงจากเหล่านักวิจัยแล้ว มีร่องรอยที่ชัดเจนมากว่าปลาเหล่านี้ว่ายน้ำเป็นกลุ่มมาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะยืนยันว่าปลาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งจะมารวมกลุ่มกันโดยบังเอิญหลังจากกลายเป็นฟอสซิล เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงตัดสินใจใช้คอมพิวเตอร์จำลองความเป็นไปได้ อันหลากหลายที่อาจทำให้ปลาเหล่านี้ เข้ามาติดในฟอสซิลได้ตามตำแหน่งที่พวกเขาพบ

โดยในการจำลองดังกล่าวนี้เอง นักวิจัยก็ได้พบว่าปลาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ว่ายน้ำเป็นกลุ่มแบบที่พวกเขาคิดจริงๆ เท่านั้น แต่มันยังมีรูปแบบการว่ายน้ำที่มีแบบแผน และเป็นแบบเดียวกับที่พบได้ในปลาหลายๆ ชนิดในปัจจุบัน เพื่อข่มขู่นักล่าอื่นๆ ด้วย

 

 

การค้นพบในครั้งนี้อาจจะเป็นอะไรที่ฟังดูเล็กน้อย แต่มันก็ชี้ให้เห็นเรื่องที่สำคัญๆ อยู่หลายอย่าง เช่นการที่ปลาโบราณมีการว่ายน้ำแบบนี้เป็นหลักฐานอย่างดีว่าปลาเหล่านี้มีการวิวัฒนาการการเอาตัวรอดเป็นกลุ่มมาเป็นเวลานานแล้ว

แถมดูเหมือนนี่จะเป็นการเอาตัวรอดที่ได้ผลเป็นอย่างดีเสียด้วย อ้างอิงจากการที่พวกมันยังคงว่ายน้ำแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน

 

 

โดยผลการวิจัยของเหล่านักวิจัยเหล่านี้ ถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสาร Proceedings of the Royal Society B เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งหากเพื่อนสนใจก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลการวิจัยเพิ่มเติมกันได้ ที่นี่

 

ที่มา livescience, allthatsinteresting และ royalsocietypublishing

Comments

Leave a Reply