ยุคสมัยนี้มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เอื้อให้เราได้พัฒนาความสวยความหล่อกันอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งหนึ่งในวิธีที่หลายๆ คนเลือกใช้กันก็คือ ‘การร้อยไหม’ ให้ใบหน้าของเราดูกระชับได้รูปมากยิ่งขึ้น
แต่ว่าก็อาจมีการร้อยไหมบางประเภทที่เราอาจต้องระวังกันสักนิด อย่างเช่นในกรณีที่นายแพทย์ท่านหนึ่งได้ออกมาเตือนว่า หากร้อยไหมด้วยโลหะบางชนิดแล้วเข้าเครื่อง MRI อาจทำให้หน้าถึงกับไหม้ได้เลย!!
คงต้องขอเกริ่นก่อนว่าการร้อยไหมในปัจจุบันมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน อย่างเช่นการร้อยไหมด้วยไหมชนิดไม่ละลายอย่างไหมทำจากพลาสติก หรือไหมทำจากโลหะ และไหมประเภทโลหะนี้เองที่มีแพทย์ท่านหนึ่งเตือนถึงความอันตรายของมัน
เฟซบุ๊ก Suthipong Treeratana ของทางคุณหมอด้านศัลยกรรม ได้กล่าวเตือนเอาถึงการร้อยไหมที่มีส่วนผสมของโลหะเช่นทอง เอาไว้ ซึ่งทางคุณหมอได้อธิบายไว้ว่า
“ฝากเตือนการร้อยไหมที่มีส่วนผสมของโลหะ เช่นทอง นะครับ จากภาพเอกซเรย์นี้เห็นเส้นไหมได้ชัดว่าจัดเต็ม จัดหนักจริง
ปัญหาจะเกิด เมื่อมีเหตุที่อาจจะต้องทำ MRI แล้วสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำโลหะ ให้เกิดความร้อน หน้าจะไหม้ทั้งหน้าเลย
คนเราต้องมีโอกาสทำ MRI บ้างในชีวิต เช่นปวดคอ ดูกระดูกต้นคองี้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีรังสีแพทย์คนไหนจะทราบมาก่อน (ถึงทราบแล้วจะทำไงดี ไหมเอาออกไม่ได้ แต่ MRI ก็ต้องทำ)
รูปภาพภายในโพสต์
ส่วนเหล็ก , screwสำหรับยึดกระดูก, clip หนีบเส้นเลือดโป่งพอง รากเทียม และอุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่มีหลายรุ่นที่ compatible กับ MRI อยู่แล้ว และไม่เกิดปัญหาแบบไหมที่มี metal เป็นส่วนประกอบ
ขณะที่ไหมอื่นๆเช่น PDO หรือไหมก้างปลา รวมทั้งไหมกลุ่มละลายได้ ทั้งหลาย ไม่เกิดปัญหานี้ครับ
Warning : MRI induced heat is possible in patient with GOLD thread lifting.”
รู้จักกับ MRI สักนิด
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า MRI คืออะไร ซึ่งเรื่องนี้ข้อมูลเบื้องต้นจากทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนไว้ว่า
Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI คือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษา
โดยอาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของไฮโดรเจนอะตอม (Hydrogen,H) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ เช่น โมเลกุลของน้ำ (H2O) เป็นต้น
เมื่อผู้รับการตรวจเข้าไปอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะ (Radiofrequency) เข้าไปกระตุ้นระบบอวัยวะที่จะตรวจนั่นเอง
ก็เอาเป็นว่าสำหรับใครที่คิดจะร้อยไหมด้วยการใช้โลหะอย่างทอง ก็คงต้องหาข้อมูลให้รอบด้านสักนิดละกันเนอะ…
ที่มา: Suthipong Treeratana, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.