ทีมข่าวญี่ปุ่น เจาะด้านมืดโลกโซเชียล ‘ธุรกิจขายยอดผู้ติดตาม’ มีโผล่ไปไกลถึงบราซิล!

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบธุรกิจนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลก การมาของโซเชียลมีเดียก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำธุรกิจ ที่เริ่มมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์แฝงเข้ามา

โดยผ่านตัวกลางอย่าง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่ส่งต่อความรู้สึกให้กับกลุ่มผู้ติดตาม สามารถสัมผัสของสินค้าตัวนั้นๆ ได้โดยไม่รู้ตัว และกลายมาเป็นการพูดแบบปากต่อปากในทำนอง ‘ของมันต้องมี-ของใช้แล้วดี’

 

อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ผู้ทรงอิทธิพลในแขนงต่างๆ บนโลกโซเชียล ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนทั่วไป

 

ไม่นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกใจอะไรในสังคมปัจจุบัน แต่ทว่าเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่อการโปรโมทสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แฝงต่างๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในเครือคนรู้จักมากขึ้น ย้ายจากการโฆษณาผ่านโทรทัศน์ มาสู่โลกโซเชียลที่ตรงและเข้าถึงได้ง่ายกว่า

 

 

ตัวเลขจำนวนผู้ติดตามจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของสปอนเซอร์หรือแบรนด์ที่จะติดต่อเข้ามา อัตราว่าจ้างต่อการโพสต์แต่ละครั้ง รวมไปถึงความนิยมในตัวอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความน่าเชื่อถือ

 

รูปแบบการโฆษณาผ่านอิลฟลูเอนเซอร์ บริษัทใหญ่ว่าจ้างตัวบุคคลให้โพสต์ภาพคู่กับสินค้า ส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ติดตาม)

 

อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมีจำนวนยอดผู้ติดตามที่สูงตั้งแต่หลักพันคนไปจนถึงหลักแสนคน ซึ่งในจำนวนเหล่านี้มาจากไหน? เป็นผู้ติดตามที่เข้ามากดติดตามเองหรือไม่? บางคนอาจจะใช่ และบางคนที่เพิ่งมาใหม่ๆ อาจจะไม่ใช่…

 

การตลาดรูปแบบ ‘ปากต่อปาก’ ที่ย้ายมาอยู่บนโซเชียลมีเดีย

 

ทีมข่าวจากสำนัก NHK ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการเจาะลึกลงไปในธุรกิจอีกด้านของโลกโซเชียล ซึ่งอินสตาแกรมก็ได้รับความนิยมสูงมากๆ และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และมักจะมาจากอินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก

 

พบหนึ่งในนายหน้าขายยอดผู้ติดตาม ทีมงานจึงลองว่าจ้างเพื่อทดสอบว่าทำได้จริงหรือไม่

 

ธุรกิจดังกล่าวเป็นการขายยอดผู้ติดตาม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับใครก็ตามที่เข้ามาซื้อตามราคาที่กำหนดเอาไว้ เมื่อจ่ายไปแล้ว จำนวนผู้ติดตามจะเพิ่มขึ้นทันทีอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างแรกที่ทดสอบก็คือ ซื้อผู้ติดตามจำนวน 1,000 คน เวลาผ่านไปเพียง 6 นาที ทีมงานก็ได้รับจำนวนผู้ติดตามครบถ้วนทั้ง 1,000 คน

 

ภายในเวลา 6 นาที จากการซื้อยอดผู้ติดตาม 1,000 คน ก็ได้ยอดเพิ่มตามที่ตกลงเอาไว้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขายยอดผู้ติดตามไม่ได้รู้สึกผิดอะไร โดยบอกว่าการกระทำแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเติมเต็มความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเท่านั้น

 

 

หนึ่งในนางแบบสาวอินฟลูเอนเซอร์ มียอดผู้ติดตามประมาณ 15,000 คน ยอมรับว่าเคยซื้อยอดผู้ติดตามเพิ่ม 1,000 คน เพื่อให้สปอนเซอร์สนใจเข้ามาโฆษณาผ่านตัวเธอเพิ่มขึ้น และสามารถต่อรองราคาต่อโพสต์ได้มากขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดูผิดปกติแต่ก็มีหลายคนซื้อยอดผู้ติดตามเช่นนี้เหมือนกับเธอ

 

ทีมงานข่าว NHK จึงลองสร้างบัญชีปลอมขึ้นมาบ้าง และทดลองใช้บริการเพิ่มยอดผู้ติดตามทั้งหมด 3 เจ้าด้วยกัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางทีมข่าว NHK จึงทดลองใช้บริการเพิ่มยอดผู้ติดตาม เพื่อสืบหาว่าผู้ติดตามเหล่านี้มาจากไหน มีตัวตนจริงหรือไม่ โดยทำการสร้างบัญชีใหม่เอี่ยมจำนวน 3 บัญชี ไม่เคยโพสต์อะไรมาก่อนเลย และเป็นการซื้อยอดผู้ติดตามจากต่างบริษัททั้ง 3 บัญชี

 

บัญชีปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาทดสอบทั้ง 3 บัญชี เกิดมาใหม่เอี่ยม

 

ปรากฏว่าพอผ่านไปประมาณ 3 ชั่วโมง โทรศัพท์แจ้งเตือนว่ามีผู้ติดตามเพิ่มเข้ามาแบบไม่หยุด

.

 

และหลังจากซื้อยอดผู้ติดตามไปแล้ว 2 วัน ก็ได้มาแต่ละบัญชีเป็นจำนวน 10,000 คน รวมเป็น 30,000 คน

 

ทีมข่าวนำมาวิเคราะห์ดูว่าผู้ติดตามเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน ซึ่งแต่ละบัญชีมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดว่าผู้ติดตามเหล่านี้มาจากคนละส่วนของโลก และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับชาวญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย

 

 

ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ในส่วนของบัญชี jiro_shibuya3 นั้นมีผู้ติดตามส่วนใหญ่มาจากประเทศบราซิลและเป็นบัญชีที่มีตัวตนคนเล่นจริงๆ อยู่ ทางทีมงานจึงไม่รอช้าไปตามหาถึงประเทศต้นทางกันเลยทีเดียว

 

 

คนแรกที่เจอก็คือ Aghata เด็กนักเรียนหญิงวัย 16 ปี ผู้ใช้อินสตาแกรมในการโปรโมทขายไอศกรีมโฮมเมดของที่บ้าน ซึ่งผู้ติดตามส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนๆ หรือคนรู้จัก

 

 

พอสอบถามถึงเรื่องที่เข้ามาติดตามบัญชีทดสอบของทีมงาน เธอบอกว่าไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนว่าไปกดติดตามตอนไหน และที่ใช้อยู่นั้นก็กดติดตามแค่เพื่อนที่มีตัวตนจริงๆ เท่านั้น

 

 

นอกจากนี้ก็ไปเจอกับ Tiago ช่างบาร์เบอร์วัย 34 ปี เมื่อถูกถามถึงเรื่องการกดติดตามบัญชีที่ทีมงานทดสอบไว้ เขาก็บอกว่าจำไม่ได้ว่ากดติดตามด้วย…

 

 

พอตรวจสอบก็พบว่าบัญชีของตัวเองกดติดตามจริงโดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งเจ้าตัวเองก็รู้สึกไม่พอใจที่มีใครบางคนเอาบัญชีของเขาไปใช้เพื่อหาผลประโยชน์ โดยที่เขาไม่มีส่วนรู้เห็นอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

ทั้งนี้ ทีมข่าวจึงนำข้อมูลของผู้ติดตามเหล่านี้มาวิเคราะห์ถึงกระบวนการได้มาของบัญชีเหล่านี้ ผ่านวิธีการใดบ้าง ซึ่งสามารถแยกออกเป็นสองกลุ่มได้แก่ ถูกแฮคหรือล้วงข้อมูล และอีกกลุ่มคือบัญชีปลอมที่สร้างขึ้นมาโดยบอท

 

 

อาจารย์ Hiroaki Miyata จากมหาวิทยาลัยเคโอ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า บริษัทผู้ให้บริการแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย เน้นไปที่การโฆษณาอย่างหนักเพื่อสร้างผลกำไร ซึ่งก็กลายมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

ด้วยกระบวนการขายข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยไม่ได้เน้นไปที่การปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจริง ซึ่งจะต้องยอมรับว่าผู้ใช้ได้ยินยอมมอบข้อมูลส่วนตัวให้ไป ภายใต้เงื่อนไขการใช้บริการแบบฟรีบนแพลทฟอร์มเหล่านี้

 

 

ในส่วนของผู้ติดตามที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ทางทีมงานพบว่ามีจำนวนทั้งหมด 150 บัญชีด้วยกัน และสามารถทำการติดต่อได้เพียง 50 บัญชี มีทั้งยังพบเจอตัวตนได้และหายสาบสูญ

 

 

โดยหนึ่งในร้านเบเกอรี่ที่เข้ามาติดตามบัญชี ichiro_shibuya ไม่เคยรู้เลยว่าเข้ามาติดตามบัญชีนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และเมื่อสอบถามว่าเคยได้ยินธุรกิจซื้อยอดผู้ติดตามบ้างหรือไม่ พวกเขาก็ยอมรับว่าเคยเห็นและเคยใช้บริการ

แต่ปรากฎว่าผู้ติดตามส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น จึงเลิกใช้บริการไป และมาถึงปัจจุบันก็ต้องตกใจว่าบัญชีอินสตาแกรมของร้านตนนั้น กลับไปกดติดตามคนอื่นๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเช่นกัน

 

 

เมื่อเจาะลึกลงไปอีกในกลุ่มบัญชีอินสตาแกรมที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ทีมงานข่าวพบว่าบัญชีเหล่านี้มีการใช้งานโปรแกรมฟรี เพื่ออัพโหลดภาพขึ้นไปบนอินสตาแกรมผ่านคอมพิวเตอร์พีซี เนื่องจากสามารถแต่งภาพได้ง่ายกว่าและรวดเร็วทันใจ (ปกติจะต้องอัพโหลดภาพบนโทรศัพท์เท่านั้น)

 

 

โดยพบว่ามีข้อตกลงการใช้งานที่เกี่ยวเนื่องกับอินสตาแกรม ที่ต้องอนุญาตให้ตัวโปรแกรมใช้งานบัญชีอินสตาแกรมไปกดติดตามผู้อื่น กระทำการแสดงความคิดเห็น หรือกดถูกใจภาพของผู้อื่น ให้ดูเหมือนเป็นปกติ

 

 

ทั้งนี้ ทางทีมงานจึงได้ร่วมกันสรุปประเด็นออกมาเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า ยุคอินเทอร์เน็ตโซเชียลมีเดียนั้น อาจจะตกอยู่ในอันตรายที่เรายังมองไม่เห็นภาพ

เมื่อเกิดเป็นกระบวนการเช่นนี้ หากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีต้องการโปรโมทอะไรบางอย่างในทางร้ายแรง และมีบัญชีของเราตกเป็นหนึ่งในนั้นที่เข้าไปร่วมกดถูกใจหรือแสดงความคิดเห็นโดยที่ไม่รู้ตัว ก็จะกลายเป็นการเห็นดีเห็นงามไปโดยปริยาย

 

แผนภูมิที่แสดงให้เห็นถึง อัตราการเติบโตของยอดผู้ติดตามที่ดูผิดปกติ มีจำนวนพุ่งสูงในช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ จะต้องระวังกันให้มากขึ้น ผู้ใช้ทั่วไปควรจะไตร่ตรองถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเที่ยงตรง มากกว่าจำนวนยอดผู้ติดตามของบุคคลนั้นๆ ที่อาจจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเม็ดเงิน

และตัวของอินฟลูเอนเซอร์เองก็ควรมีความรับผิดชอบ ต่อข้อมูลที่ตนเองส่งต่อไปยังผู้ติดตามของตน หากเกิดข้อผิดพลาดทำให้เกิดการเข้าใจผิด ก็จะส่งผลร้ายต่อความเชื่อมั่นในตัวบุคคลเอง จนไม่อาจทำให้ดำเนินการใดๆ ต่อไปได้

 

 

ในส่วนของสิทธิพื้นฐานของผู้ใช้ ความเป็นส่วนตัวต่างๆ ที่ต้องยินยอมข้อตกลงของแพลทฟอร์มโซเชียลหรือแอปฯ ต่างๆ ก่อนใช้บริการ

จะมีความมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือแบบไหนถึงเรียกได้ว่าถูกละเมิดสิทธิ… ซึ่งก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบจากผู้ให้บริการแพลทฟอร์มโซเชียลเจ้าใหญ่ๆ ในปัจจุบัน

 

ที่มา: nhk


Tags:

Comments

Leave a Reply