นักบรรพชีวินพบ ฟอสซิลสัตว์โบราณคล้าย “เนสซี” ที่แอนตาร์กติกา คาดมีอายุกว่า 66 ล้านปี

เมื่อพูดถึงตำนานของสัตว์ประหลาดล็อกเนสส์หรือ “เนสซี” ในปัจจุบัน เชื่อว่าคงมีเพื่อนๆ หลายคนไม่น้อยที่บอกว่าเรื่องราวของเจ้าสัตว์ในตำนานตัวนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงๆ

เพราะแม้แต่ภาพที่เป็นตำนานของเนสซีเองในปัจจุบัน ก็มีการพิสูจน์ไปแล้วว่าไม่ใช่ภาพของสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่อย่างที่เราคิดแน่ๆ

 

 

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าในโลกนี้จะไม่เคยมีสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีรูปร่าง “คล้าย” เนสซีเลยแต่อย่างไร

เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักบรรพชีวินวิทยาที่นำโดยคุณ José O’Gorman จากพิพิธภัณฑ์ลาปลาตา และมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาปลาตาในอาร์เจนตินา ได้ทำการค้นพบฟอสซิลสัตว์โบราณ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับประหลาดล็อกเนสส์ในตำนาน ในพื้นที่หนาวเย็นแห่งแอนตาร์กติกาเข้าแล้ว

 

 

ฟอสซิลที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ เป็นของสัตว์โบราณที่เรารู้จักกันในชื่อ “เพลสิโอซอร์” สัตว์เลื้อยคลาน ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเลในยุคไดโนเสาร์ (แต่ตัวมันเองไม่นับเป็นไดโนเสาร์)

โดยเจ้าเพลสิโอซอร์ที่ถูกพบ มีขนาดความยาวตั้งแต่หัวจรดหางถึง 11 เมตร และหนักมากถึง 13.4 ตันซึ่งทำให้มันกลายเป็นสัตว์ในตระกูลอีลาสโมซอริด (เพลสิโอซอร์แบบคอยาว) ที่ไม่เพียงแค่ตัวยาวที่สุด แต่ยังมีน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีการพบมา

 

ขนาดของเพลสิโอซอร์ที่พบเมื่อเทียบกันคน

 

อันที่จริงแล้วร่องรอยของเพลสิโอซอร์ในแอนตาร์กติกานั้น เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมาตั้งแต่ในปี 1989 แล้ว อย่างไรก็ตามด้วยความที่มันมีขนาดใหญ่โตมาก แถมยังฝังอยู่ในหินแข็ง กว่าที่ทีมนักบรรพชีวินจะสามารถขุดฟอสซิลชิ้นนี้ขึ้นมาได้ พวกเขาก็ต้องไปกลับแอนตาร์กติกาถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2005-2017

จากการตรวจสอบอายุของฟอสซิลโดยอ้างอิงจากชั้นหินที่พบนักบรรพชีวินก็พบว่าเพลสิโอซอร์ที่พวกเขาพบนั้นถูกฝังอยู่ใต้ชั้นหินจากช่วงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีนเล็กน้อย

 

 

ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่าเพลสิโอซอร์ตัวนี้น่าจะมีชีวิตอยู่ก่อนเกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวๆ 66-70 ล้านปีก่อน อีกประมาณ 30,000 ปีได้

น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน ทีมนักบรรพชีวินไม่อาจมั่นใจได้ว่าฟอสซิลที่พวกเขาพบนั้นเป็นของเพลสิโอซอร์ประเภท “อาริสโตเน็ตเทส” หรือเป็นประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีการพบมาก่อนกันแน่ ด้วยความที่ลักษณะเพลสิโอซอร์ที่พบนั้น มีความทับซ้อนกับตัวอย่างอื่นๆ มากพอ ทำให้การเปรียบเทียบเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

 

นักบรรพชีวินคาดว่าเพลสิโอซอร์ที่พวกเขาพบ อาจจัดอยู่ในประเภทอาริสโตเน็ตเทส

 

สิ่งที่นักวิจัยทราบคือเพลสิโอซอร์ที่พบ น่าจะโตเต็มวัยแล้วจากการที่กระดูกสันหลังบางส่วนของมันเริ่มจะเชื่อมติดกัน มันน่าจะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร และมันมีกระดูกส่วนคอที่น้อยกว่าสัตว์ในตระกูลอีลาสโมซอริดอื่นๆ ก็เท่านั้น

ทั้งนี้การสำรวจแอนตาร์กติกาในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยเงินทุนจากสถาบันแอนตาร์กติกอาร์เจนตินา และคณะกรรมการความคุมการสำรวจแอนตาร์กติกแห่งชาติ โดยข้อมูลเพิ่มเติมของการค้นพบในครั้งนี้ มีกำหนดการที่จะถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสาร Cretaceous Research ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 ต่อไป

 

 

ที่มา livescience, thesun และ earth

Comments

Leave a Reply