“บาสเกตบอล” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกีฬา ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากมันเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความได้เปรียบของร่างกายเยอะมาก และด้วยร่างกายตามธรรมชาติของชาวเอเชีย ที่สู้กับชาวยุโรปหรือชาวแอฟริกันไม่ได้
จึงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นนักบาสเกตบอลเชื้อสายเอเชียไปโลดแล่นอยู่ในเวทีบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลกอย่าง NBA ได้
แต่นั่นไม่ใช่กับ “เจเรมี ลิน” หรือ “หลิน ซูเหา” นักบาสเกตบอล “ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย” ที่เพิ่งได้แชมป์กับทีมโตรอนโต แร็ปเตอร์ส ไปเมื่อเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2019 ตามเวลาประเทศไทย
ต้นกำเนิดของเจเรมี
แต่เดิมแล้วครอบครัวของเจเรมีนั้น เป็นชาวไต้หวันโดยแท้ๆ แต่อพยพย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงกลางทศวรรษที่ 70
และด้วยความที่ เจเรมี เติบโตมาในสังคมของชาวอเมริกัน ทำให้เขาสนใจและจริงจังกับการเล่นกีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก
เริ่มฉายแววนักบาสเกตบอล
ด้วยความสนับสนุนจากครอบครัว เจเรมี ฉายแววในกีฬายัดห่วงได้สวยงามทันทีที่เข้าเรียนที่โรงเรียนอัลโต พาโต ไฮสคูล และพาทีมทำสถิติได้อย่างยอดเยี่ยม ชนะ 32 แพ้เพียงแค่ 1
แถมยังได้รับตำแหน่งผู้เล่นแห่งปีของการแข่งบาสเกตบอลของเขตนอร์ทเทิร์นแคลิฟอร์เนียดิวิชั่น 2 ด้วยสถิติส่วนตัวเฉลี่ย 15.1 แต้ม 7.1 แอสซิส 6.2 รีบราวน์และอีก 5.0 สตีล
นักบาสของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก
ปกติแล้วนักกีฬา ก็จะไม่ค่อยเก่งด้านการเรียน แต่สำหรับเขานั้นมันฉีกแนวออกไป… เจ้าหนูเจเรมี ทั้งเรียนเก่ง และยังเล่นบาสเก่งมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กเรียนด้วยกัน
ด้วยความเก่งกาจของ เจเรมี เขาได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งเจเรมีเลือกที่จะเข้าเรียนต่อกับฮาร์วาร์ด
ในปีแรกที่ได้เล่นบาสเกตบอลให้ฮาร์วาร์ด เขาถูกโค้ชจดจำได้ในฐานะ “คนที่มีร่างกายอ่อนแอที่สุดในทีม”
ก่อนที่ปีสอง ฟอร์มของ เจเรมี จะพัฒนาขึ้น ทำแต้มเฉลี่ย 12.6 แต้มต่อเกม และได้รับรางวัล All-Ivy League Second Team
ฟอร์มของ เจเรมี ดีขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
โดยในปีสุดท้าย (ปี 4) เจเรมี มีสถิติส่วนตัว 16.4 แต้ม 4.4 รีบราวน์ 4.5 แอสซิสและ 2.4 สตีล พร้อมได้รับรางวัล All-Ivy League First Team
(ติดทีมยอดเยี่ยมของเหล่ามหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่และระดับท็อปด้านการเรียน)
วันแห่งความผิดหวัง
เจเรมี จบจากคณะเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ดด้วยเกรดเฉลี่ย 3.1 พร้อมกับเป็นนักบาสคนแรกของฮาร์วาร์ดที่สามารถทำสถิติตลอดทั้งการเล่นให้ทีมได้ถึง 1,450 แต้ม 450 รีบราวน์ 400 แอสซิส 200 สตีล
หลังจากจบการมหาวิทยาลัย เขามี 2 ทางเลือก
หนึ่งคือการหางานทำในสายเศรษฐศาสตร์ที่เขาจบมา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการลงทุน ธนาคาร หรือนักวิเคราะห์ในสถาบันต่างๆ ซึ่งเกรดระดับเขา คงหางานที่มั่นคงได้ไม่ยาก
หรือสอง คือการเลือกทางที่เสี่ยง คือการไปเล่นบาสเกตบอลในลีกที่เต็มไปด้วยคนผิวสีและผิวขาว ร่างกายและความสามารถสูงกว่าเขามากนัก
ถ้าเขาไม่สำเร็จ เขาก็อาจจะเป็นแค่นักกีฬาระดับหางแถว แล้วไม่มีใครมอบสัญญาให้ จนต้องระหกระเหินมาเริ่มต้นทำงานออฟฟิศใหม่ ความก้าวหน้าก็สู้คนรุ่นเดียวกันไม่ได้ไปเสียแล้ว
แล้วคนเอเชียซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือ “เหยา หมิง” นักกีฬาชาวจีนผู้มีร่างกายใหญ่โตเป็นพิเศษเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ แทบไม่เคยมีใครสร้างชื่อได้
แม้มันจะดูเป็นหนทางที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็เลือกเส้นทางนี้…
เจเรมีได้ตัดสินใจลงเข้ารับการคัดเลือกตัว (ดราฟท์) เข้าไปเล่นใน NBA ประจำปี 2010
แต่แม้ว่าสถิติของเขาสมัยเรียนจะดีเพียงใด ในปีนั้นเขากลับไม่ถูกทีมใดเลือกเข้าทีม…
ความพยายามไม่เคยทรยศใคร
แต่ เจเรมี ก็ยังไม่ยอมแพ้ต่อความฝัน เขาได้รับการชวนเชิญให้เข้าไปเล่นกับทีมของดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ ในซัมเมอร์ลีก
(ลีกไม่จริงจังของ NBA ที่จะให้ผู้เล่นหน้าใหม่หรือคนที่ไม่ติด NBA มาแสดงฝีมือกัน)
ใน 5 เกมที่ได้เล่นในซัมเมอร์ลีก เจเรมี ทำสถิติได้ 9.8 แต้ม 3.2 รีบราวน์ 1.8 แอสซิส ยิงลงห่วงสูงถึง 54.5% แม้จะได้เวลาลงเพียง 18.6 นาทีต่อเกมเท่านั้น
ด้วยสถิตินั้น ในที่สุดก็มีทีม NBA ที่สนใจในตัวของ เจเรมี นั่นคือทีมโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส, ดัลลัส แมฟเวอริกส์ และลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส
เริ่มต้นชีวิตที่ไม่ค่อยสวยงามใน NBA
ในปี 2010-2011 เจเรมี ตัดสินใจเซ็นสัญญา 2 ปีกับโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส
แต่อย่างไรก็ตามภายใต้การนำทีมของ Stephen Curry กับ Monta Ellis ผู้เล่นที่เล่นตำแหน่งเดียวกับเจเรมี ณ ตอนนั้น เป็นผู้เล่นระดับสุดยอดทั้งคู่ ทำให้แทบไม่มีโอกาสให้เขาลงเล่น
ทีมตัดสินใจส่ง เจเรมี ลงไปเล่นให้กับทีมดีลีก (ลีกการแข่งขันที่เอาไว้พัฒนาฝีมือผู้เล่น) อยู่บ่อยครั้ง
จนสุดท้ายก็ไม่ได้ใช้งานเขาเป็นชิ้นเป็นอัน เจเรมี ลงเล่นให้ทีมไปแค่ 29 เกมและทำสถิติปีแรกไปได้เพียง 2.6 แต้ม ยิงลง 38.9%
อย่างไรก็ตาม เจเรมี ก็ยังไม่ย่อท้อ ในช่วงปิดฤดูกาลแข่ง เขาฝึกฝนอย่างหนักพัฒนาทั้งร่างกาย ทั้งประสิทธิภาพในการเล่น
สถานการณ์ก่อกำเนิดวีรบุรุษ
ในฤดูที่ 2011-2012 เจเรมี ถูกทีมโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ปล่อยตัวออก
แต่ก็ยังมีทีมที่สนใจในตัวเขาอย่าง นิวยอร์ก นิกส์ ตัดสินใจเซ็นสัญญาเขาเป็นผู้เล่นสำรองมืออันดับ 3
ซึ่งดูเหมือนว่าสถานการณ์จะเป็นใจให้กับ เจเรมี เพราะในฤดูกาลนั้น ด้วยปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นตำแหน่งการ์ด ทั้งตัวจริง ตัวสำรอง ทำให้โค้ชอย่าง ไมค์ ดี แอนโทนี จึงจำเป็นต้องส่ง เจเรมี ลงเป็นตัวจริง
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2011 เจเรมี ได้รับโอกาสลงเป็นตัวจริง ในเกมที่นิวยอร์ก นิกส์พบกับ นิวเจอร์ซีย์ เน็ตส์ ที่นำโดยผู้เล่นตำแหน่งการ์ดระดับออลสตาร์อย่าง เดรอน วิลเลียมส์
และในเกมนั้นฮีโร่คนใหม่ของนิวยอร์กก็ได้ปรากฎตัวขึ้น เมื่อ เจเรมี โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ทำไป 25 แต้ม 5 รีบราวน์ 7 แอสซิส และพาทีมชนะไป 99 ต่อ 92 แต้ม
ก่อนที่หลังจากนั้น เจเรมี จะโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม พาทีมชนะติดต่อกันได้ถึง 7 เกม
รวมถึงเกมที่ทำไป 38 แต้ม 7 แอสซิสกับ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส แชมป์เก่าที่นำโดย โคบี้ ไบรอัน ด้วย พร้อมกำเนิดกระแส “Linsanity” หรือความคลั่งไคล้ในตัวลิน ก่อกำเนิดขึ้นมา
เมื่อมีจุดสูงสุด ก็ต้องมีจุดต่ำสุด
หลังจากที่ เจเรมี แจ้งเกิดกับ นิวยอร์ก นิกส์ แต่สัญญาของเขาก็หมดลงในฤดูกาลนั้น เมื่อปิดฤดูกาลต้องหาสัญญาจากทีมใหม่
เขาได้รับสัญญาใหม่จากทีมเดิมของตัวเอง แต่ทางทีม ฮิวสตัน รอกเก็ตส์ นั้นยื่นข้อเสนอมาให้มากกว่า ทางทีมจึงต้องจำใจปล่อยเขาไป
แต่ในฤดูกาลดังกล่าว อิวสตัน รอกเก็ตส์ ได้แลกตัวคว้า เจมส์ ฮาร์เดน ผู้เล่นระดับออลสตาร์มา ซึ่งสไตล์การเล่นของเจมส์นั้น เป็นผู้เล่นที่มักถือบอลไว้กับตัวเอง
ทำให้เจเรมีโชว์ฟอร์มได้ไม่สมกับที่หลายคนคาดหวัง
ในปีสุดท้ายกับฮิวสตัน รอกเก็ตส์ เขาถูกทีมเทรดไปทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส
และจากนั้นก็ต้องพเนจรไปยังทีมต่างๆ มากมายทั้ง ชาร์ลอต ฮอร์เน็ต, บรูคลิน เน็ตส์, แอตแลนตา ฮอกส์และล่าสุดโตรอนโต แร็ปเตอร์ส
จากกระแสอันโด่งดัง ตอนนี้เขาเป็นเพียงผู้เล่นเกรดท้ายๆ ที่พเนจรย้ายทีมไปทั่วประเทศเท่านั้น
ผู้เล่นเชื้อสายเอเชียคนแรกที่เป็นแชมป์ NBA
การที่เขามาถูกเทรดจากแอตแลนตา ฮอกส์ มายังโตรอนโต แร็ปเตอร์ส์ ที่เป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเจเรมี เนื่องจากจะได้มารับบทผู้เล่นสำรองชั้นดี ทดแทน เฟร็ด แวดวลีต ที่บาดเจ็บ
แถม ณ ตอนนั้นโตรอนโต ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์ NBA อีกด้วย
เจเรมี มีส่วนช่วยทีมแร็ปเตอร์ส ในฤดูกาลปกติเป็นอย่างดี… แต่กลับกัน พอเข้าสู่เพลย์ออฟ หรือช่วงตัดเชือกเพื่อหาผู้ชนะแล้ว บทบาทของเจเรมีลดลงเป็นอย่างมาก เขาแทบจะไม่ได้รับโอกาสลงสนามเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตามแม้จะถูกลดบทบาทลงไป แต่ทีมแร็ปเตอร์สที่เขาสังกัด ก็ทะลุเข้าไปแชมป์ NBA ได้ในที่สุด
กระทั่งในวันที่ 14 มิถุนายน 2019 นี้ ก็ทีมแร็ปเตอร์ก็เอาชนะโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ไป 4-2 เกม คว้าแชมป์ NBA
หลายคนอาจจะมองว่า เขาไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมมากนักในนัดชิงชนะเลิศ
หลายคนอาจจะมองว่านี่คือโชคชะตา ที่พาเขามาเป็นผู้เล่นสำรองของทีมที่ได้แชมป์
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันคือผลของความพยายาม ฝึกซ้อมอย่างนัก ความอดทนไม่ย่อท้อ แม้จะถูกทีมต่างๆ เฉดหัวไปนับครั้งไม่ถ้วนก็ตาม
แต่หน้าประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้แล้วว่า เจเรมี กลายเป็นผู้เล่นเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้แชมป์ NBA ในท้ายที่สุด!!
เรียบเรียงโดย #เหมียวโคบี้
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.