เพื่อนๆ เคยได้ยินชื่อของหลุมอุกกาบาต “วเรเดฟอร์ท” (Vredefort Crater) กันมาก่อนไหม นี่คือหลุมอุกกาบาต ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ราวๆ 300 กิโลเมตร และตั้งอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้
ตั้งแต่ที่ถูกค้นพบไปในปี ค.ศ. 1937 สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อประวัติศาสตร์โลกไป จนถึงขนาดที่มันได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโกเลยทีเดียว
ล่าสุดนี้ทีมนักวิจัยของแอฟริกาใต้ ได้ค้นพบว่าในหลุมอุกกาบาตวเรเดฟอร์ทนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่หลักฐานของอุกกาบาตในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีรูปสลักโบราณถูกวาดเอาไว้ด้วย
.
รูปสลักที่ถูกพบในครั้งนี้นั้น ถูกค้นพบในขณะที่นักวิจัยได้เข้าไปตรวจสอบลักษณะทางธรณีวิทยาของหลุมอุกกาบาตที่มีอายุร่วม 2,000 ล้านปี และพบว่าในพื้นที่แนวหินยาวซึ่งเกิดจากการกระแทกของอุกกาบาตที่เรียกกันว่า “Rain Snake” ยังมีหินจำนวนมากที่ถูกสลักภาพของสัตว์ป่าเอาไว้ด้วย
เมื่อทำการตรวจสอบอายุสิ่งที่พบในเบื้องต้นทีมนักวิจัยก็พบว่ารูปสลักบนหินเหล่านี้ มีอายุอย่างต่ำๆ ถึง 8,000 ปี และน่าจะถูกเขียนขึ้นโดย “ชาวคอนชาน” บรรพบุรุษของชาวแอฟริกาในอดีต ผู้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในทะเลทรายแถบประเทศบอสวานาและประเทศนามีเบีย อ้างอิงจากหลักฐานอื่นๆ ที่เคยมีการพบในพื้นที่ใกล้ๆ
โดยรูปของสัตว์ที่นักวิจัยคนพบนั้น มีตั้งแต่ภาพของม้า ละมั่ง ฮิปโปโปเตมัส และสัตว์อื่นๆ ที่อธิบายได้ยากว่าเป็นตัวอะไร ซึ่งเป็นไปได้มาว่าจะเป็นสัตว์ที่คนในสมัยนั้นพบเจอในระหว่างที่พวกเขาออกล่า และเก็บของป่าในพื้นที่
ส่วนสำหรับสาเหตุที่ว่าทำไมหินสลักเหล่านี้ถึงมาอยู่ในพื้นที่หลุมอุกกาบาตได้นั้น ทีมนักวิจัยคาดกันว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ และการขอฝนของคนในสมัยก่อน
นั่นเพราะหลุมอุกกาบาตแห่งนี้ ในอดีตเคยถูกเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับโลกแห่งวิญญาณมาก่อน และพื้นที่ที่มีการพบรูปสลักบนหินเองก็เคยมีตำนานเกี่ยวกับ “งูศักดิ์สิทธิ์” ที่มีความเกี่ยวข้องกับฝนนั่นเอง
แนวหินยาวซึ่งเกิดจากการกระแทกของอุกกาบาต สถานที่ที่มีการพบหินสลัก
แนวหินจากการกระแทกของอุกกาบาตเมื่อมองจากมุมสูง
ทั้งนี้เองในปัจจุบันพื้นที่ซึ่งมีการค้นพบรูปสลักบนหินนั้น ได้ถูกทีมนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเข้ารับช่วงตรวจสอบต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพวกเขาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและแนวคิดของคนแอฟริกาในอดีตมากขึ้น แม้สักนิดก็ยังดี
ที่มา ancient-origins, iflscience
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.