‘มด’ สิ่งมีชีวิตตัวน้อยที่มีอยู่มากมายหลากหลายสายพันธุ์ เราอาจเคยเห็นพวกมันอยู่ตามบ้าน ตามสนามหญ้า แต่ก็อาจไม่ได้ให้ความสนใจกับเจ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้สักเท่าไหร่นัก
แต่สำหรับมดชนิดนี้ บอกได้เลยว่า “ไม่สนใจไม่ได้แล้วจริงๆ” เพราะนอกจากว่ามันจะเป็น ‘มดชนิดใหม่ของโลก’ แล้ว ความพิเศษอีกอย่างคือชื่อชนิดของมันยังมี ‘ชื่อของคนไทย’ รวมอยู่ในนั้นด้วย!!
มดชนิดใหม่ พบในไทย และมีชื่อของคนไทยรวมอยู่ด้วย
รู้จักกับ ‘มดอาจารย์รวิน’ มดชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย
มดอาจารย์รวิน หรือชื่อเต็มๆ คือ Myrmecina raviwongsei Jaitrong, Samung, Waengsothorn et Okido คือเจ้ามดที่เพิ่งถูกจัดให้เป็นมดชนิดใหม่ของโลกแบบสดๆ ร้อนๆ ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้
การค้นพบมดชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ , ‘คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล’ และ ‘สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย’
จากการร่วมกันศึกษาสิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้ในประเทศเรา ทำให้พวกเขาได้ค้นพบมดอาจารย์รวิน ในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์
บริเวณส่วนหัว อก และเอวของมดชนิดดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นร่องลึกขนานไปกับความยาวลำตัว
ส่วนลักษณะพิเศษที่ทำให้มันมีความแตกต่างจากมดชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างแรกคือ ‘บริเวณท้องปล้องที่ 1 จะมีผิวขรุขระ ไม่เรียบเป็นเงา’ (มดชนิดอื่นๆ จะมีความเป็นมันเงาในส่วนนี้)
และอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ขอบด้านหน้าท้องปล้องที่ 1 มีความเว้าลึกจนสังเกตเห็นได้’
แหล่งที่อยู่อาศัย สะท้อนธรรมชาติอันสมบูรณ์
มดอาจารย์รวิน นั้นถูกพบว่าอาศัยอยู่ในกองใบไม้ที่ทับถามกันบนพื้นป่า หรือแม้แต่ในกิ่งไม้แห่งที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นป่าดิบชื้นอันสมบูรณ์
ทาง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า “เมื่อมันจะอาศัยอยู่ในพื้นป่าที่สมบูรณ์ ดังนั้นมดชนิดนี้จึงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของป่าได้ทางหนึ่ง”
นอกจากนั้นแล้ว จากการที่พวกมันกินสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่นเป็นอาหาร นั่นจึงทำให้มีส่วนช่วยในการควบคุมกลไกแห่งสายใยอาหารในระบบนิเวศให้อยู่ในสภาพสมดุลได้อีกด้วย
เพราะเหตุใดถึงมีชื่อคนไทยไปรวมอยู่ด้วย?
สำหรับชื่อดังกล่าวที่ถูกตั้งขึ้นมานั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นั่นก็เพราะ ผศ.ดร.รวิน ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพแก่เจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจังมาโดยตลอด
ผศ.ดร.รวิน ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
โดยสำหรับการค้นพบมดชนิดใหม่ในครั้งนี้ก็ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Far Eastern Entomologist วารสารระดับนานาชาติของรัสเซีย ฉบับเดือนมิถุนายน 2562 นี้
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.