เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวของสตรีผู้กล้าหาญ ชื่อว่า “ฟรังกา วิโอลา” (Franca Viola) กันไหม เธอชื่อหญิงสาวผู้มีชื่อเสียงในฐานะคนที่ต่อต้านประเพณีของประเทศอิตาลี ด้วยการปฏิเสธที่จะแต่งงานกับคนที่ข่มขืนเธอ แม้ว่ามันจะทำให้เธอถูกมองว่าเป็น “ผู้หญิงไร้ยางอาย” ก็ตาม
ฟรังกา วิโอลา เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวชาวนาที่เกิดมาในช่วงเวลาที่ประเทศอิตาลี มีกฎหมายและประเพณีที่ค่อนข้างประหลาด
โดยในเวลานั้น คดีข่มขืนจะถูกมองว่าเป็น “ความผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ไม่ใช่ “ความผิดต่อบุคคล” ดังนั้นโทษของคดีข่มขืนจึงเป็นเรื่องที่สามารถถูกละเว้นได้หากอาชญากรผู้ลงมือข่มขืน ทำสิ่งที่เรียกว่า “Matrimonio riparatore” หรือการรับผิดชอบเหยื่อด้วยการแต่งงาน
ปัญหาหลักๆ ของกฎหมายแบบนี้คือในเวลานั้น ประเทศอิตาลีมีแนวคิดที่ว่าผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์ไปก่อนจะแต่งงานนั้นเป็นเรียกที่น่าอายมาก และใครก็ตามที่เสียพรหมจรรย์ก่อนแต่งงานจะถูกมองว่าเป็น “Donna svergognata” หรือผู้หญิงไร้ยางอายไป
แนวคิดนี้เองทำให้ในสมัยนั้นมีอาชญากรคดีข่มขืนจำนวนมากที่รอดพ้นจากโทษมาได้ด้วยการแต่งงานกับเหยื่อที่กลัวจะโดนตราหน้าว่าไร้ยางอาย และมีผู้ไม่หวังดีอีกหลายคนที่พยายามจะใช้กฎหมายนี้ในการบังคับให้ผู้หญิงแต่งงานด้วย และก็แน่นอนว่าวิโอลาเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของกฎหมายที่ว่านี้
เรื่องราวการต่อสู้ของเธอเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 1965 เมื่อที่วิโอลาถูกกลุ่มคนติดอาวุธ 13 คนซึ่งนำทีมโดย “ฟีลิปโป เมโลเดีย” อดีตคู่หมั้นของเธอบุกเข้ามาฉุดตัวไปข่มขืนในขณะที่เธอยังอายุได้เพียง 17 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะให้หญิงสาวต้องแต่งงานกับเขาอีกครั้ง หลังถูกถอนหมั้นเพราะตัวเองถูกจับจากคดีลักขโมย
วิโอลาถูกขังเอาไว้เป็นเวลา 8 วันในบ้านชานเมืองของญาติของเมโลเดีย และถูกขู่ว่าให้แต่งงานกับเมโลเดียเสียหากไม่อยากถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไร้ยาง อย่างไรก็ตามวิโอลาไม่ยอมที่จะทำตามข้อเสนอของเมโลเดียและตัดสินใจฟ้องร้องอดีตคู่หมั้นที่ข่มขืนเธอและผู้ให้ความร่วมมือจนถึงที่สุด
วิโอลาในกับการพูดคุยกับตำรวจ ไม่นานหลังถูกช่วยจากการกักขัง
อ้างอิงจากศาลของอิตาลี ฟรังกา วิโอลานับว่าเป็นผู้หญิงคนแรกเลยก็ว่าได้ที่ปฏิเสธการแต่งงานกับคนที่ข่มขืนเธอ ซึ่งการกระทำของวิโอลาในเวลานั้น ก็ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจจนเริ่มเข้ามาคุกคามครอบครัวและที่อยู่ของเธอ เพื่อกดดันหญิงสาวให้ยอมจำนน
ถึงอย่างนั้นก็ตามสำหรับคนที่อยู่นอกพื้นที่แล้ว การกระทำของหญิงสาวคนนี้นับว่าเป็นอะไรที่กล้าหาญมาก และแน่นอนว่าวิโอลาเองก็ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นอย่างมากจากคนอีกกลุ่มนี้
เสียงการตอบรับที่แบ่งเป็นสองฝั่งทำให้ คดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อ
การต่อสู้ในศาลของวิโอลานั้น ดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 2 ปี จนกระทั่งในท้ายที่สุดแล้ว ฟีลิปโป เมโลเดียก็แพ้คดีไปด้วยโทษจำคุก 11 ปี (ซึ่งได้รับการลดหย่อนลงมาเป็น 10 ปี และ 7 ปีในภายหลัง) ส่วนผู้ให้ความร่วมมือของของเขา 7 คนก็ได้รับโทษจำคุกไปคนละ 4 ปี
หลังจากคดีความในวันนั้นจบลงวิโอลา ก็ได้มีโอกาสแต่งงานกับ “จูเซปเป รูอิส” (Giuseppe Ruis) ชายหนุ่มซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเด็ก และค่อยเคียงข้างเธอตลอดการต่อสู้อันยาวนาน ในปี 1968 ก่อนที่ทั้งคู่จะมีลูกด้วยกันสองคน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขเรื่อยมาตั้งแต่วันนั้น
ฟีลิปโป เมโลเดีย ระหว่างรอการขึ้นศาลอยู่ในที่คุมขังชั่วคราว
นับว่าน่าเสียดายมากที่กว่าที่ประเทศอิตาลีจะมีการยกเลิกการใช้ระบบ Matrimonio riparatore มันก็ในปี 1981 หลายปีหลังจากเรื่องราวของวิโอลามีชื่อเสียงขึ้นมา แถมกว่าที่คดีความรุนแรงทางเพศจะถูกกำหนดว่าเป็นความผิดต่อบุคคลมันก็ในปี 1996 เลยทีเดียว
ส่วนตัวของฟีลิปโป เมโลเดียนั้น หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากคุกเขาก็ถูกขับออกจากซิซิลีเนื่องจากความเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากร ก่อนที่จะถูกแทงตายในอีกสองปีต่อมาที่เมืองโมเดนา
ที่มา rarehistoricalphotos
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.