นักดาราศาสตร์พบอุกกาบาตก่อนชนโลกเพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา

เป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าในปัจจุบันนักดาราศาสตร์มีรายชื่อของอุกกาบาตหลายลูกที่มีโอกาสจะชนโลกในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาเราก็สามารถเห็นข่าวอุกกาบาตตกลงมาบนโลกโดยที่เราไม่ทราบกันมาก่อนเช่นกัน ดังนั้นแล้วความน่าเชื่อถือของระบบตรวจจับอุกกาบาตจึงยังเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยโต้เถียงกันอย่างหนาหู

และเมื่อล่าสุดนี้เองเราก็มีข่าวที่หากมองเผินๆ แล้วจะบอกไม่ถูกว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายอีกครั้ง เพราะในวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมาทีมนักดาราศาสตร์ในฮาวายได้ทำการค้นพบอุกกาบาตขนาดพอๆ กับรถหนึ่งคันชื่อ “2019 MO” ก่อนที่มันจะพุ่งชนโลกภายในเวลา 12 ชั่วโมงเท่านั้น

 

 

ในวันนั้นอุกกาบาต 2019 MO ได้พุ่งใส่ชั้นบรรยากาศของโลกในพื้นที่ห่างออกไปทางใต้จากเครือรัฐปวยร์โตรีโกของสหรัฐอเมริการาวๆ 380 กิโลเมตร ก่อนที่จะระเบิดกลางอากาศด้วยความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิด TNT ราวๆ 3-5 กิโลตัน

อุกกาบาต 2019 MO  ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่สองตัวชื่อ “ATLAS”  และ “Pan-STARRS” ในเวลาราวๆ 30 นาทีหลังจากที่มันเข้าสู่ระยะ 500,000 กิโลเมตรห่างจากโลก (ราวๆ 1.3 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์)

 

กล้องโทรทรรศน์ ATLAS 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมานาโลอา ในฮาวาย

 

นี่นับเป็นครั้งที่ 4 ของการตรวจพบอุกกาบาตในระยะเผาขน ตั้งแต่ที่เคยมีมาในช่วง 11 ปีมานี้ ซึ่งสำหรับทีมนักวิทยาศาสตร์แล้ว การค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นข่าวดีมากกว่าข่าวร้ายอย่างที่หลายๆ คนคิด

เพราะแม้ว่าอุกกาบาตจะถูกพบก่อนชนชั้นบรรยากาศภายในเวลาไม่ถึงวันก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยฮาวายก็มั่นใจว่าระบบของพวกเขาจะสามารถออกเตือนผู้คนในพื้นที่ได้ทันท่วงที เพื่อที่จะอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ปะทะ

 

แสงวาบจากแรงระเบิดของอุกกาบาต 2019 MO ที่ถูกจับภาพไว้ได้โดยดาวเทียม

 

ทั้งนี้ทางทีมนักดาราศาสตร์ได้บอกว่า ตามทฤษฎีแล้ว ATLAS จะสามารถตรวจสอบอุกกาบาตขนาดเล็กแบบในกรณีของ 2019 MO ได้ก่อนที่มันจะชนโลกราวๆ ครึ่งวัน

ในขณะที่อุกกาบาตขนาดใหญ่อย่างอุกกาบาต Chelyabinsk ที่ตกในรัสเซียเมื่อปี 2013 นั้น ระบบ ATLAS จะสามารถตรวจพบมันได้ก่อนการตกจริงๆ หลายวันเลยทีเดียว

 

ที่มา livescience, hawaii และ earthsky

Comments

Leave a Reply