ไขข้อข้องใจ ทำไมภาษีรถนำเข้า 300% !? และเหตุใด “การลดกำแพงภาษี” จึงเป็นเรื่องยาก??

สนับสนุนเนื้อหาโดย: 

 

 

 

บ่อยครั้งที่ราคาจำหน่ายของรถยนต์ในบ้านเรา มักจะทำให้คุณผู้อ่านต้องตกอยู่ในอาการ “ฝันสลาย” กันมาแล้ว

(เช่นกรณีของ Suzuki Jimny แพงถึง 1.5 ล้านและ Nissan Leaf ราคาเกือบ 2 ล้าน เป็นต้น )

ซึ่งสาเหตุของอาการที่ว่านั้นก็มาจากการอัพค่าตัวที่จากราคาจำหน่ายในต่างประเทศเกือบ 3 เท่า!!

หรืออย่างที่หลายคนชอบคอมเมนต์เมื่อเห็นข่าวรถยนต์ราคาถูกๆ ว่า “เดี๋ยวโดนภาษีนำเข้า 300%”  ซึ่งมันก็ไม่เกินจริงแต่อย่างใด

ความจริงที่ว่า “กำแพงภาษี” ทำให้รถราคาหลักแสนกลายเป็นหลักล้านนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยจริงๆ

แต่ในบทความพิเศษชิ้นนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกกับภาษีต่างๆ ที่รถยนต์ 1 คันต้องเจอ พร้อมกับไขข้อข้องใจที่ว่าเหตุใดการลดกำเพงภาษีถึงเป็นเรื่องยาก…

 

 

รถนำเข้า 1 คันต้องเจอภาษีอะไรบ้าง

นับตั้งแต่รถยนต์ 1 คันเสร็จสิ้นการประกอบจากโรงงานต้นทาง ก่อนที่จะมาถึงประเทศปลายทางนั้นจะมีการกำหนดราคาที่เรียกว่า C.I.F. ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขในการซื้อขายชนิดหนึ่ง

ราคา C.I.F. จะประกอบด้วย: ราคาสินค้าหรือบริการ(ในกรณีนี้คือราคารถ) + ค่าขนส่ง + ค่าประกันสินค้า

ซึ่งมาถึงตรงนี้ คุณต้องรู้จัก C.I.F. ก็เพราะว่า มันจะใช้ในการคำนวณอย่างอื่นต่อไปนี้ครับ…

 

 

ซึ่งราคา C.I.F จะเกี่ยวข้องกับการคิดคำนวนภาษีต่างๆ โดยการนำเข้ารถยนต์ 1 คันนั้นจะต้องเสียค่าภาษีทั้งหมด 4 อย่างด้วยกันคือ

1. อากรนำเข้า: C.I.F x อัตราอากรนำเข้า

2. ภาษีสรรพสามิตร: (C.I.F + อากรนำเข้า) x อัตราภาษีสรรพสามิตร/ 1-(1.1. x อัตราภาษีสรรพสามิตร)

3. ภาษีเพื่อมหาดไทย: ภาษีสรรพสามิตร x 10%

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT): ฐานภาษี (ราคารถ รวมกับภาษีข้อ 1-3) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7% นั่นเอง)

(ปัจจุบันมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรใหม่ โดยคิดจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา)

 

www.tgo.or.th

 

และเมื่อนำภาษีทั้ง 4 ข้อมารวมกับราคารถเราก็จะได้ราคาขายของรถคันนั้นที่จะวางจำหน่ายในบ้านเรา

ยกตัวอย่างการคำนวนให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น รถเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 150 g/km รองรับน้ำมัน E20

ราคา C.I.F. อยู่ที่ 400,000 บาท บาทเมื่อนำเข้ามาขายในบ้านเราจะราคาเท่าไหร่??

 

ตัวเลขที่จะใช้คำนวน และอัตราภาษีมีดังนี้ (ใช้อัตราภาษีสรรพสามิตรตามตารางด้านล่าง)

ราคา C.I.F: 400,000 บาท

อัตราอากรนำเข้า: 80%

อัตราภาษีสรรพสามิตร: 30%

อัตราภาษีเพื่อมหาดไทย: 10%

อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม: 7%

 

ซึ่งเมื่อคิดคำนวนแล้วรถคันนี้มีอัตราอากรรวมทั้งหมดอยู่ที่ 187.47% ด้วยกัน

นั่นหมายความว่า หากรถคันนี้มีการนำเข้ามาขายในบ้านเรา จะโดนค่าภาษีถึง 749,880 บาท

และเมื่อรวมกับราคารถก็จะกลายเป็น 1,149,8800 บาท!! นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้รถหลักแสนกลายเป็นหลักล้าน

และหากเป็นรถที่ซีซี สูงเกิน 3,000 ซีซี ขึ้นไปก็จะต้องเสียภาษีพุ่งสูงไปถึง 328% ด้วยกัน

 

 

อ่าว ถ้างั้นก็ลดภาษีสิ…

ราคาที่กระโดดไปไกลขนาดนี้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า หากลดภาษีให้ถูกลงกว่านี้ก็คงจะทำให้เราได้ใช้รถที่ถูกลงกว่านี้น่ะซิ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะลดกำแพงภาษีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ปุ๊บปั๊บจะทำได้เหมือนกับพลิกฝ่ามือ เพราะอาจเกิดผลกระทบที่ตามมาได้

 

กรณีศึกษาการลดภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีน ในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน

ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนลดเหลือ 0%

หากมองผ่านๆ นโยบายดังกล่าวก็น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคเองที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาถูก

และเมื่อเข้าถึงได้ง่าย รถไฟฟ้าก็ยิ่งมีคนใช้เยอะ และเมื่อยิ่งมีคนใช้เยอะก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่!! ช้าก่อนครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งขนาดนั้น

และอาจจะทำให้เกิดผล กระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ รวมถึงผู้บริโภคอย่างเรามากกว่าที่คิดก็ได้

 

 

แม้ว่าการลดภาษีจะมีข้อดี แต่ผลกระทบหากรรถไฟฟ้าจากประเทศจีนได้รับการยกเลิกภาษีนำเข้า สามารถแบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

– ทำให้ค่ายรถจากจีนมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง (ค่ายรถจากจีนไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า ขณะที่ค่ายอื่นต้องเสีย 30%) ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

– เมื่อรถไฟฟ้าจากจีนถูกลง คนก็ซื้อมากขึ้น มีสินค้าไหลเข้าประเทศมากขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมทำเงินในแต่ละปีไม่น้อย

– เกิดผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องการดึงผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

– ท้ายที่สุดหากไม่มีใครสู้ค่ายรถจากจีนได้ การแข่งขันในตลาดก็ลดลง และตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคก็จะลดลงไปด้วยนั่นเอง เห็นถึงผลกระทบที่เป็นลูกโซ่แล้วใช่ไหมล่ะ

 

จากผลกระทบที่ยกตัวอย่างให้เห็น การจะทำให้รถนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลงด้วยการลดภาษีเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

แต่อาจจะมาในรูปแบบส่งเสริมการลงทุน หรือการดึงผู้ผลิตเข้ามาตั้งโรงงานให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมีเงินมาเติมเต็มเศรษฐกิจในประเทศด้วย

(ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของนโยบายภาครัฐ ถ้าเขียนมากจะออกนอกประเด็นไป เลยจบแค่นี้น่าจะดีกว่านะครับ)

 

NIO es8 รถไฟฟ้าจากบริษัทสตาร์ทอัพน้องใหม่จากจีน

 

อย่างไรก็ตาม หวังว่าบทความนี้จะช่วยเคลียร์ให้หลายๆ คนเข้าใจในเรื่องของ “อัตราภาษี” กับราคาค่าตัวของรถนำเข้าที่มักจะเพิ่มไปประมาณ 3 เท่ากันได้มากยิ่งขึ้นครับ

ถ้าถูกใจล่ะก็ อย่าลืมติดตามเนื้อหาดีๆ ที่ MagCarZine จะนำมาฝากกันในครั้งต่อไป ติดตามได้ทั้งทางหน้าเว็บไซต์ หรือทางแฟนเพจได้ทุกวัน

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ…

 

เรียบเรียงโดย: ณัฐกร หอมรื่น

ที่มา khaosod, thansettakij, grandprix


by

Tags:

Comments

Leave a Reply