ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาจากพลาสติกนั้น ในปัจจุบันจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายของโลกเป็นกังวลเลยก็คงไม่ผิด เพราะเราสามารถพบกับขยะพลาสติกได้ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นร่องลึกก้นมหาสมุทร หรือแม้แต่ในตัวนกที่บินบนฟ้า
แต่แล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบมลภาวะอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากขยะพลาสติกเข้าจนได้ โดยในเวลานี้พลาสติกของมนุษย์ถูกพบฝังอยู่ในหินตามพื้นที่ชายฝั่ง และแน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศชายหาดได้
มลภาวะรูปแบบใหม่นี้ ถูกเปิดเผยออกมาในงานวิจัยซึ่งมีกำหนดการที่จะตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 และถูกเรียกกันโดยทีมนักวิจัยอย่างไม่เป็นทางการว่า “Plasticrust”
อ้างอิงจากคุณ Ignacio Gestoso หนึ่งในทีมวิจัย Plasticrust ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ชายหาดในมาเดรา ประเทศโปรตุเกส เมื่อปี 2016 ในอัตราส่วนประมาณ 10% ของหินทั้งหมดในหาด และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาด้วย
เมื่อนำ Plasticrust ที่พบไปทำการตรวจสอบทางเคมีนักวิจัยก็พบว่าหินเหล่านี้มีองค์ประกอบหลักเป็นโพลีเอทิลีน พลาสติกพบได้บ่อยๆ ในบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่า Plasticrust มีความเกี่ยวข้องกับขยะพลาสติกของมนุษย์
เป็นไปได้ว่า Plasticrust นั้นจะเกิดขึ้นมาจากการที่คลื่นซัดขยะพลาสติกเข้าใส่หินเป็นเวลานานๆ ทำให้พลาสติกบางส่วนฝังลงในหินคล้ายกับตะไคร่น้ำและสาหร่ายทะเล
นี่นับว่าเป็นอะไรที่อันตรายกับระบบนิเวศในพื้นที่ใกล้เคียงมาก เพราะเช่นเดียวกับตะไคร่น้ำและสาหร่ายทะเล Plasticrust นั้น อาจถูกกินโดยหอยทากตระกูล Tectarius striatus ได้ จากความเข้าใจผิดที่ว่า พลาสติกเหล่านี้เป็นอาหาร และเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารของชายหาดต่อไป
จริงอยู่ว่าในปัจจุบัน Plasticrust อาจจะถูกรายงานว่ามีการค้นพบแค่ที่เกาะมาเดราเท่านั้น แต่มันก็ใช้ว่าจะไม่มีโอกาสเลขที่มลภาวะแบบนี้จะแพร่กระจายไปตามชายหาดอื่นๆ ในโลก อย่างในปี 2014 เอง เราก็เคยมีข่าวพลาสติกละลายไปผสมกับหินและลาวาที่ฮาวายจนเกิดเป็นหินชนิดใหม่มาแล้วด้วย
ดังนั้นไม่แน่ว่ามลภาวะแบบหินผสมกับพลาสติกเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นปัญหายุคใหม่ แห่งโลกในอนาคตอันใกล้นี้เลยก็เป็นได้
ที่มา livescience, allthatsinteresting และ sciencedirect
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.