ความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่กระทำความผิด ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้กระทำแต่ไม่อยากเปิดเผยให้ใครได้รับรู้ กลายมาเป็นบ่อเกิดแห่งการโกหกและหลอกลวงเพื่อให้พ้นผิด
โดยที่อดีตเจ้าหน้าที่ FBI นามว่า LaRae Quy ผู้ที่ร่วมฝึกฝนและปฏิบัติหน้าที่ในการอ่านจิตใจของผู้คน เพื่อที่จะเค้นความจริงที่ปกปิดอยู่ภายใน ได้ออกมาเปิดเผยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจับโกหก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้
1. สร้างบรรยากาศที่ดีในการเปิดอกพูดคุย
โดยทั่วไปแล้วการสืบสวนเพื่อเค้นหาความจริง บทบาทของตำรวจที่ดีมักจะได้ผลดีกว่าตำรวจที่แย่เสมอ (ความเคร่งขรึมและทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา) เพราะฉะนั้นแล้วการเห็นอกเห็นใจในระหว่างบทสนทนา จะช่วยสร้างความไว้ใจให้กับฝ่ายตรงข้าม จนยอมเปิดเผยความจริงให้เราได้รับรู้
2. สร้างความประหลาดใจกับคำถามที่คาดไม่ถึง
คนที่โกหกจะพยายามคาดเดาคำถามของฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ ซึ่งคำตอบที่ออกมานั้นจะไหลลื่นและเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงอาจจะมีการฝึกซ้อมตอบคำถามมาก่อนด้วย ดังนั้นการถามคำถามที่พวกเขาคาดไม่ถึงจะทำให้การตอบคำถามชะงักไปในทันที จนเริ่มไม่มั่นใจที่จะตอบ
3. ให้ฟังมากกว่าพูด (สังเกตอาการของคู่สนทนา)
คนโกหกมักจะพูดมากกว่าคนที่พูดแต่ความจริง (มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ) เพื่อพยายามโน้มน้าวและหลีกเลี่ยงประเด็นให้คนฟังรู้สึกคล้อยตามด้วยประโยคที่สลับซับซ้อนเพื่อซ่อนความจริง
ลองสังเกตพฤติกรรมในระหว่างที่พูดอยู่ดังต่อไปนี้
3.1 หากรู้สึกมีความตึงเครียด จะพูดเร็วกว่าปกติ
3.2 ยิ่งเครียดก็จะยิ่งพูดเสียงดังมากขึ้น
3.3 น้ำเสียงเริ่มไม่เป็นธรรมชาติ เปลี่ยนไปจากเดิมในตอนแรกที่เริ่มพูด
3.4 มักจะไอและล้างลำคอบ่อยๆ เวลาที่พูดแล้วรู้สึกเครียด
โดยที่พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายความว่าคู่สนทนาของเรากำลังโกหกเราเสมอไป แต่ถ้าหากเป็นคุณเองที่ให้การเป็นพยานกับคนอื่น พึงระวังพฤติกรรมเหล่านี้เอาไว้ให้ดี
4. สังเกตวิธีการ ‘ปฏิเสธ’
การปฏิเสธเป็นหนึ่งในวิธีการโกหกที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ด้วยคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจผิด โดยพฤติกรรมการปฏิเสธของผู้ที่โกหกมักจะมีดังต่อไปนี้
4.1 พูดคำว่า ‘ไม่’ แล้วหันมองไปทางอื่น
4.2 พูดคำว่า ‘ไม่’ แล้วปิดตา
4.3 พูดคำว่า ‘ไม่’ หลังจากที่ครุ่นคิดซักพัก บ่งบอกถึงอาการลังเลที่จะตอบ
4.4 ลากเสียง ‘ม่ายยยยยยยยยยยย’ หรือทำเสียงสูง
4.5 พูดคำว่า ‘ไม่’ ในลักษณะที่เบื่อหน่าย
5. สังเกตพฤติกรรมในระหว่างสนทนา
การพูดจาหรือสนทนาต่างๆ มนุษย์ก็มักจะมีการเปลี่ยนลักษณะการพูด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ ซึ่งมันมีความหมายที่ซ่อนอยู่ด้วย ระวังเอาไว้ให้ดีหากคู่สนทนาของคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
5.1 ทำเป็นครุ่นคิดนึกย้อนอดีตในช่วงเวลาที่ต้องการคำตอบที่สำคัญ
5.2 ตอบคำถามด้วยคำตอบที่สั้นและห้วน โดยไม่มีการขยายความเพิ่มเติม
5.3 พูดจาสุภาพมากขึ้นจนผิดปกติ (สัญญาณที่บ่งบอกถึงความเครียด)
5.4 เริ่มตอบสนองด้วยคำที่ฟังแล้วรุนแรงหรือเป็นขั้นสูงสุด (เช่นคำว่า ดี ก็กลายมาเป็น โคตรดี หรือ ดีโคตร)
6. ย้อนถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ผู้ที่พูดความจริงมักจะจดจำรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และยินดีที่จะเล่ารายละเอียดทั้งหมดนั้นอย่างไม่ลังเล แต่สำหรับคนที่พูดโกหกมักจะเป็นในทิศทางที่ตรงกันข้าม จำได้แต่ไม่ลงรายละเอียด หรือไม่แต่งเติมเข้าไปให้ผิดเพี้ยนจนไม่เป็นธรรมชาติ
วิธีการย้อนถามก็คือ ให้เริ่มต้นจากตอนจบของเหตุการณ์ แล้วก็ถามเจ้าตัวให้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะถึงตอนจบ แล้วก็ย้อนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
แน่นอนว่าคนที่ไม่โกหก จะจดจำเรื่องราวได้และเล่าออกมาเป็นฉากได้ชัดเจน ไม่มีติดขัด ส่วนคนที่โกหกจะเล่าแบบติดๆ ขัดๆ เล่าช้า จำไม่ค่อยได้ หรือหลีกเลี่ยงไม่ยอมที่จะเล่า
7. ระวังคำชมที่มีมากจนเกินไป
การชื่นชมบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากว่ามันเป็นการพยายามที่จะโปรยคำชมมากจนเกินไป ขอให้ระวังตัวเอาไว้ด้วย รวมไปถึงการเห็นดีเห็นชอบกับความคิดของคุณทุกอย่าง สรรเสริญเยินยอ หัวเราะกับมุกตลกทุกมุก แม้มันจะฝืด เฝื่อน และไม่ฮาซักนิดเลยก็ตาม เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่จริงใจ
8. ถามคำถามในเชิงเล่าประสบการณ์เพื่อให้ได้คำตอบ
ไม่มีใครอยากโกหกหรอก แต่ที่จำเป็นต้องทำในบางครั้งก็เพราะว่าไม่อยากจะเปิดเผยเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองรู้สึกอับอายในอดีตที่ผ่านมา หรือกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาหลังจากจบบทสนทนา
อย่างในกรณีของการสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครงานในตำแหน่งต่างๆ อาจจะซ่อนความจริงเกี่ยวกับการมาสมัครงานใหม่ที่นี่เนื่องจากโดนไล่ออกมาด้วยเหตุผลที่มีความร้ายแรง ซึ่งถ้าหากว่าบุคคลนี้ผ่านการคัดเลือกไปแล้ว คุณจะปล่อยผ่านไปอย่างนั้นหรือ?
จากกรณีข้างต้น การถามคำถามในเชิงเล่าประสบการณ์เพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเค้นความลับออกมาได้ อย่างเช่น ‘คุณรู้มั้ยว่า ผม (อาจจะยกตัวอย่างเป็นญาติหรือเพื่อนสนิท) เคยโดนไล่ออกจากงานเนื่องจากการกระทำที่ผิดพลาดร้ายแรงมาก่อน แล้วคุณเคยเจอหรือมีประสบการณ์ทำนองนี้มาบ้างรึเปล่า?’ ต่อด้วยคำถาม ‘แล้วคุณคิดจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร’
ทั้งนี้เมื่อเกิดความสงสัยก็ควรที่จะเลือกใช้คำถามที่ชาญฉลาด ถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเค้นความลับและความจริงออกมาจากคู่สนทนาให้ได้มากที่สุด
ที่มา : inc
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.