ก็อย่างที่ทราบๆ กันอยู่ว่าสถานการณ์ในเรื่องเกี่ยวกับภัยแล้งของบ้านเรานั้นก็รุนแรงเกือบทุกๆ ปี ทำให้ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหากันอย่างมาก เพราะไม่มีน้ำให้เพาะปลูกกันในฤดูร้อนแถมน้ำให้ใช้ก็ต้องใช้สอยอย่างประหยัดอีกต่างหาก
สำหรับปีนี้นายกของเรา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกมาเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ โดยเสนอแนวคิด ‘ฝายประชารัฐสู้ภัยแล้ง’ ช่วยกันสร้างฝายกักเก็บตามพื้นที่ต่างๆ และยังขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้อาบน้ำน้อยลงเพื่อที่จะได้มีน้ำเหลือเยอะขึ้น!!? จากการรายงานของ Posttoday
ในกรณีนี้ #จ่าสิบเหมียว ก็คิดว่ามันสมเหตุสมผลนะ แนวคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร แน่นอนว่าการใช้น้ำที่น้อยลงหมายถึงการประหยัดและทำให้ใช้ทรัพยากรนั้นๆ ได้ยาวนานขึ้น แต่จะว่าไปในฤดูฝนเราก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอีกไม่ใช่เหรอ…อ่าวหน้าร้อนก็เพาะปลูกไม่ได้เพราะภัยแล้ง หน้าฝนก็น้ำท่วมจนเสียหายอีก แล้วเกษตรกรจะยืนอยู่จุดไหนละเนี่ย -*-
ภาพจากรายการคืนความสุขให้คนในชาติ
จะว่าไปแล้วภัยพิบัติต่างๆ นั้นก็เกิดขึ้นทุกๆ ปี คนจะถือว่าเป็นโชคร้ายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามีการจัดการที่ดีไม่แน่นะว่าโชคร้ายอาจกลายเป็นโชคดีของเราก็ได้ และแน่นอนปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
ทั้งในประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วมกันในหน้าฝน แต่หน้าร้อนพวกเขากลับจัดการกับภัยแล้งได้อย่างดี เอ๊ะเขามีวิธีการ-เคล็ดลับอะไรดีๆ กันรึเปล่าเนี่ย??
ทั้งน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งซ้ำซาก วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกยอมรับในระดับสากลมากที่สุดวิธีหนึ่งในขณะนี้ก็คือการเก็บเกี่ยวน้ำที่มีมากในฤดูฝน แล้วเติมน้ำเหล่านั้นลงไปในชั้นน้ำบาดาลเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในยามแล้ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียพบว่าวิธีการนี้น่ะได้ผลมากๆ
การปั้มน้ำอัดลงไปใต้ดิน
สำหรับระบบนี้ในต่างประเทศมีชื่อเรียกอย่างเก๋ไก๋ว่า Aquifer storage recovery-ASR หรือเป็นภาษาไทยก็คือการคืนสภาพกักเก็บของชั้นน้ำบาดาลนั่นเอง ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจัดการปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและภัยแล้งในหน้าร้อน
หลักการง่ายๆ เลยก็คือการอัดน้ำผิวดินลงไปในบ่อบาดาลเลย เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากหรือน้ำท่วมในฤดูฝน ในขณะเดียวกัน สามารถสูบน้ำที่เก็บรักษาไว้จากบ่อน้ำบาดาล ขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งได้!!!
ในส่วนของโครงการนี้เจ้าแรกที่คิดขึ้นก็คือประเทศออสเตรเลีย ช่วงปี 2006-2009 โดยมีโปรเจ็คต์ทดลองกันใน Salisbury, South Australia ซึ่งแน่นอนว่าได้ผลดีที่อยู่ในระดับน่าพอใจจนวิธีการนี้แพร่กระจายไปหลายๆ พื้นที่รอบโลก
หลักการของ ASR
สำหรับประเทศที่ใช้ระบบนี้ก็มีทั้ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ คูเวต และแอฟริกาใต้ น่าสนใจมากๆ เลยนะเนี่ย
แน่นอนว่าถ้ามีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ทำโครงการนี้ก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างทั่วถึง แต่ลองจินตนาการดูสิว่ามีโครงการนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ส่วนทั่วประเทศทั้งขนาดเล็กๆ และขนาดใหญ่ๆ ล่ะก็ เอ้อออ น่าจะโอเคเลยทีเดียว
นอกจากนี้ก็มีอีกหลากหลายวิธีทั้ง การเติมน้ำด้วยการขุดลอกสระ (Spreading basins) ที่ขุดบ่อให้น้ำซึมลงใต้ดินที่ต้องปูลาดผิวบนของพื้นสระด้วยชั้นกรวดทราย เพื่อให้ผิวดินในสระสามารถไหลลงไปเติมน้ำในชั้นน้ำได้ดียิ่งขึ้น
Spreading basins
อีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การเติมน้ำด้วยการขุดเป็นโพรงลงสู่ชั้นใต้ดิน เหมาะกับการใช้ในสถานที่ๆ จำกัด ไม่มีพื้นที่กว้างๆ สำหรับขุดสระ ปูลาดด้วยวัสดุที่มีความพรุนสูง เพื่อให้น้ำไหลซึมลงไปได้เร็วที่ก้นบ่อ
โพรงใต้ดินเติมน้ำ
หรือจะเป็น การเติมน้ำโดยการขุดลอกเป็นแนวคลอง (Recharge ditches) ซึ่งจะเหมาะกับพื้นที่ๆ มีธารน้ำใต้ดินไหลผ่าน โดยแนวคูขุดอาจวางตัวขนานไปกับชั้นน้ำบาดาลบนผิวดิน หรือในบริเวณเชิงเขา อาจขุดให้แนวคูขุดวางตัวยาวขนานไปกับความลาดชันของพื้นที่ เพื่อเป็นคูดักน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา
Recharge ditches
จะว่าไปแล้ววิธีเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่จริงมีเยอะมากๆ จนอาจเรียกได้ว่านำเสนอกันไม่หมดเลยทีเดียว และเรื่องต้นทุนก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะบางวิธีการก็ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายสูงเท่าไหร่นักแค่มีวิธีการที่ดีเท่านั้นล่ะ
ทุกวิธีที่กล่าวมาก็ล้วนเป็นวิธีที่น่านำไปใช้ สามารถปรับกันไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากจะแก้ปัญหาอุทกภัยได้แล้ว ภัยแล้งก็สามารถรับมือได้อย่างนี้น่าลองใช้ในประเทศเรามากๆ ดีกว่ารณรงค์ให้ประชาชนอาบน้ำน้อยลงเป็นไหนๆ …ถ้ามีการเตรียมการจัดการดีๆ ก็ไม่ต้องกลัวภัยพวกนี้แล้วล่ะ
แต่ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องลดการอาบน้ำตามเขาว่ากันไปก่อนนั่นล่ะ T^T
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.