เมื่อไม่นานมานี้ #เหมียวเลเซอร์ ได้หยิบยกภาพบรรยากาศภายในโรงเรียนชายล้วนที่ดีที่สุดจากประเทศอังกฤษมาให้ชมกัน นั่นก็คือ Eton College หรือวิทยาลัยอีตัน (คลิกชมที่ลิงค์นี้)
และจากที่ได้เปรยไปว่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ดูดีมากจนน่าเหลือเชื่อ จะเห็นได้จากบุคลิกการแต่งกายของเหล่านักเรียนนั้นมีความเป็นผู้ดีสุดๆ แล้วบรรยากาศการเรียนข้างในนั้นจริงๆ จะดีอย่างที่เราคิดกันหรือไม่ ถ้าอยากรู้แล้วล่ะก็ มาติดตามกันได้เลย
ทางสถานีโทรทัศน์ BBC ได้จัดทำรายการที่ติดตามชีวิตของนักเรียนในแต่ละสถาบันของอังกฤษในซีรีส์ My Life ติดตามชีวิตนักเรียนในสถาบันต่างๆ ซึ่งในคราวนี้จะเป็นของวิทยาลัยอีตัน โดยมีหนุ่มวัยมัธยมต้น 3 คนที่ได้รับทุนเข้ามาศึกษาในรั้วอีตันแห่งนี้
หนุ่มน้อยทั้งสามของเรามีชื่อว่า Fara, James และ Theo ได้รับทุนเข้าเรียนในระดับ Year 9 หรือเท่าเทียบ ม.3 ในบ้านเรา
Fara เองได้เล่าไว้ว่าการได้เข้าเรียนที่นี่คือความใฝ่ฝันของแม่ เพราะอยากจะให้ลูกได้เข้าเรียนสถาบันที่ดีที่สุดในประเทศ และเขาก็สามารถสอบชิงทุนตามที่แม่หวังเอาไว้ได้
James นั้นมีเชื้อสายจีน โดยพ่อแม่ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ การสอบทุนนั้นเกิดขึ้นด้วยความเบื่อของ James เอง ลองทำการสมัครชิงทุน และแล้วก็สอบผ่านมาได้ ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทุนนี้มา เขาก็คงไม่ได้เรียนที่นี่ เพราะค่าเทอมแพงมาก
Theo เป็นแชมป์ว่ายน้ำ 3 สมัยซ้อนประจำเมือง และการสอบชิงทุนเข้าเรียนที่นี่ก็ได้รับแรงผลักดันมาจากคุณพ่อนั่นเอง
การที่จะเข้าเรียนที่อีตันนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถเข้ามาเรียนได้ทันที นั่นเป็นเพราะว่าค่าเทอมที่แพงมากๆ ตกเฉลี่ยเทอมละ 33,000 ปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 1,500,000 บาท
วิทยาลัยอีตันเป็นโรงเรียนประจำ เพราะฉะนั้นแล้วนักเรียนทุกคนจะต้องทำการตัดชุดนักเรียนให้เรียบร้อย
ถ้าใครอยากจะเห็นชุดนักเรียนชายของวิทยาลัยอีตันแบบเต็มๆ เชิญรับชมได้ ณ บัดนี้
.
.
.
เมื่อจัดการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาย้ายเข้ามาสู่รั้วสถาบันอีตันซักที
ภายในนั้นเปรียบได้เหมือนดั่งเมืองอีกเมืองหนึ่งเลยล่ะ ป้ายบอกทางจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
สามหนุ่มน้อยสมาชิกใหม่ของอีตันก็ต้องเข้าร่วมพิธีต้อนรับนักเรียนใหม่
ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าวิทยาลัยอีตันนั้น ใช้ระบบการศึกษาภายในเป็นแบบของตนเอง มีภาษา Etonian คำเรียกที่แตกต่างจากสถาบันอื่นๆ อย่างในระดับชั้น Year 9 นั้น ที่นี่จะเรียกว่า Block F และจะไล่ระดับชั้นขึ้นมา Year 10 ก็จะเป็น Block E ตามลำดับจนถึง Year 13
เข้าพิธีพบครูใหญ่ Headmaster กล่าวถึง 3 สิ่งสำคัญที่นักเรียนต้องมีคือ มาตรฐานสูง ใส่ใจการศึกษา และเป็นตัวของตัวเองแต่ต้องเคารพตัวตนของผู้อื่นด้วย
อีตันจะแบ่งให้นักเรียนแต่ละคนแยกอยู่ประจำบ้านของตัวเอง แม้ว่าหนุ่มน้อยทั้ง 3 จะอยู่ระดับชั้นเดียวกันก็ตาม
ระบบบ้านของอีตันนั้นถือว่ามีเยอะมากๆ เลยล่ะ โดยรวมทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว 25 บ้านด้วยกัน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนประมาณ 1,400 คนต่อปี
.
.
และจากที่ว่าอีตันมีภาษาเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นแล้วเหล่านักเรียนใหม่จะต้องจดจำให้ได้ว่าแต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร
และแล้วเช้าวันแรกของการเรียนก็มาถึง
ทุกๆ เช้า จะมีคุณครูผู้ดูแลหรือที่เรียกว่า Dame มาคอยปลุกนักเรียนในบ้าน
Theo ตื่นและพร้อมที่จะไปเรียนแล้วล่ะ
James ก็เช่นเดียวกัน แต่ได้รับหน้าที่เวรส่งหนังสือพิมพ์เพิ่มเข้ามา
และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือในส่วนของอาหารเช้า แน่นอนว่าเป็นระบบบ้าน ก็ต้องรับประทานในบ้านของตัวเอง
อาหารการกินของที่นี่มีความหลากหลายมาก โดยรวมแล้วจะเป็นอาหารนานาชาติ
เหล่านักเรียนจะนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมกับ Dame ผู้คอยดูแลทุกระเบียบนิ้วของเด็กๆ
อีกหนึ่งกิจกรรมก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอนนั้นก็คือการเดินทางไปโบสถ์ คล้ายๆ กับกิจกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียนบ้านเรา และอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นก็คือการพกแฟ้มของนักเรียน เพราะที่นี่จะไม่มีการใช้กระเป๋า
.
ความเป๊ะมีอยู่ทุกที่ในสถาบันแห่งนี้ หากใครแต่งตัวไม่เรียบร้อยจะต้องเจอกับคุณครูฝ่ายปกครอง อย่างกรณีนี้ Theo ลืมใส่ปกคอเสื้อมา
กิจกรรมภายในโบสถ์เสร็จสิ้นแล้วก็ได้เวลาเรียน
สำหรับ Block F (Year 9) นั้นจะได้เรียนวิชาบังคับ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาละติน เทววิทยา ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และจะต้องเลือกเรียนภาษาอีก 2 ภาษาได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย รวมทั้งหมดแล้วเป็น 7 คาบต่อวัน เรียนคาบละ 40 นาที
คาบแรกเริ่มต้นด้วยวิชาประวัติศาสตร์
.
ภาษารัสเซีย เป็นภาษาที่ Theo เลือกเรียน
เมื่อถึงเวลาช่วงพักกลางวัน การรับประทานอาหารกลางวันจะมีสองแบบคือ กลับไปรับประทานมื้อเที่ยงที่บ้านของตนเองพร้อมกับสมาชิกภายในบ้าน
อีกกรณีก็คือหากได้รับประทานอาหารที่โรงอาหารใหญ่ ก็ต้องรอรับประทานพร้อมครูที่มาร่วมโต๊ะ
กลับมาเรียนกันต่อในช่วงบ่ายกับวิชาเทววิทยา
.
วิชาภาษาละติน หนึ่งในวิชาบังคับของอีตัน
แล้วชั่วโมงพละศึกษาล่ะ มีบ้างมั้ย!? ขอบอกว่ามี แต่ไม่ใช่บังคับให้เรียนเหมือนกันนะ นักเรียนทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นกีฬาอะไร อย่าง Theo และ James เลือกที่จะเล่นไฟฟ์ คล้ายๆ กับสควอช แต่ไม่มีไม้ตี
ส่วน Fara เลือกกีฬาฟุตบอล
เมื่อหมดวันตะวันตกดิน ทุกคนก็ต้องกลับมาทบทวนบทเรียนและทำการบ้าน โดยมีชื่อเรียกในช่วงนี้ว่า Quiet Hour
.
หากใครติดปัญหาตรงไหน ไม่เข้าใจอะไรยังไง ก็สามารถมาขอคำปรึกษาจากคุณครูประจำบ้านได้
หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว มีเวลาว่างเหลือก็สามารถมาหาอะไรทำพักผ่อนหย่อนใจได้ ใช่ว่าจะต้องเคร่งกับการเรียนเสมอไป
กิจกรรมยังไม่หมดเพียงเท่านี้ (นี่แค่หนึ่งวันนะ) เพราะก่อนเข้านอน แต่ละบ้านจะรวมตัวสมาชิกมาแข่งขันการขับร้องเพลงประจำบ้าน
กิจกรรมนี้มีชื่อว่า House Shout
แต่ละบ้านจะมีเพลงเป็นของตัวเอง
.
.
จากที่เรียนมาได้ซักระยะหนึ่งแล้ว สามหนุ่มน้อย Fara, James และ Theo ก็ต้องเข้าไปพบปะกับครูใหญ่ เนื่องจากเป็นนักเรียนทุน ครูใหญ่ก็อยากจะถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ซักนิด
Fara บอกว่ามีความสุขกับบ้านที่ได้อยู่ Theo ชอบอาหารของที่นี่ ส่วน James ออกแนวบ่น เบื่อการเดินในโรงเรียน เพราะโรงเรียนใหญ่มากๆ เดินจนเมื่อยอะไรประมาณนั้น
หากว่าภาพลักษณ์ของที่นี่คือความเป๊ะ อีตันก็ไม่อยากให้เป๊ะไปซะทุกวันหรอก เพราะที่นี่เขาก็มีวันปล่อยผีด้วย นั่นก็คือ Mufti Day วันที่ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนยังไงล่ะ!!
จากที่เห็นชุดนักเรียนชายในตอนแรก ภาพลักษณ์ผู้ดีมาเต็มสุดๆ บางคนอาจจะคิดว่าไม่ใส่ชุดนักเรียนก็อาจจะใส่เป็นชุดนอน เสื้อยืด กางเกงยีนส์ธรรมดา แต่เปล่าเลย อย่างที่เคยบอกว่าเป็นวันปล่อยผี มันมากกว่านั้นจริงๆ นะ
.
.
.
อย่างว่าแหละ ใส่ชุดถูกระเบียบทุกวัน นานๆ ทีจะไม่ต้องใส่บ้าง ก็จัดเต็มไปเลยสิพี่น้อง!!
แน่นอนว่าเมื่อถึงปลายเทอม ทุกสถาบันจะมีการสอบ ของอีตันจะเรียกว่า Trial
.
หากใครหลงลืมอยากจะติวเข้มหลังเลิกเรียน ที่นี่ก็มีจัดให้ เรียกในชื่อว่า Divs
ในที่สุดก็ถึงวันสอบ
กองข้อสอบที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วรอรับการตรวจ
เมื่อผลของคะแนนสอบออกมาแล้ว นักเรียนทุกคนจะต้องเข้ามาพบกับคุณครูประจำบ้าน ที่จะคอยดูแลในส่วนที่ขาดของแต่ละคน ต้องพัฒนาในส่วนไหนเพิ่มเติม
ระยะเวลาผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่เดือน ทั้งสามหนุ่มน้อยของเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่ให้อะไรกับพวกเขาเยอะแยะมาก ทั้งทักษะการพูด การพึ่งพาตนเอง กล้าแสดงออก และเป็นแรงบันดาลใจกระตุ้นเพื่อทำตามความฝันให้เป็นจริง
อย่าง Theo อยากจะเป็นทูตอังกฤษประจำที่ประเทศฝรั่งเศส
Fara อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี
และ James ก็อยากจะเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาละติน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ไม่ว่ายังไงเส้นทางการเรียนรู้และศึกษาในวิทยาลัยอีตันแห่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หวังว่าประสบการณ์นักเรียนทุนของที่นี่จะทำให้พวกเขาทั้งสาม ได้ข้อคิดดีๆ ติดตัวนำไปใช้ต่อไปในอนาคต
ที่มา : CBBC, dek-d, bbc, independent, independentschoolparent, spectator
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.