เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนยุคใหม่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ในประเทศไทยเคยเกิดโศกนาฎกรรมทางด้านการบินครั้งหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้คนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นด้านมืดของคนไทยอันน่าหดหู่
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 เมื่อเที่ยวบินที่ NG004 ของสายการบิน Lauda Air จากประเทศออสเตรีย ที่เดินทางมาจากฮ่องกงด้วยเครื่องบิน Boeing B-767-3Z9ER
เครื่องบินกำลังจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งภายในเครื่องบินลำนี้มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 213 คนและลูกเรืออีก 10 คน
หลังจากเครื่องบินขึ้นได้ไม่นานกัปตันชาวอเมริกัน Thomas J. Welch และผู้ช่วย Josef Thurner ชาวออสเตรียได้รับการสัญญาณภาพแจ้งเตือนว่า มีความผิดพลาดทางระบบที่อาจทำให้ระบบผันกลับแรงขับ (Thrust Reverser) ของเครื่องยนต์หมายเลข 1
แต่หลังจากตรวจสอบคู่มือแล้วพวกเขาตัดสินใจไม่ทำอะไร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
สุดท้ายขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือบริเวณรอยต่อของจังหวัดอุทัยธานีกับจังหวัดสุพรรณบุรี ระบบผลักดันแรงขับที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ก็ทำงานขึ้นมากะทันหัน ทำให้เครื่องบินสูญเสียแรงยกจนฉีกแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ กลางอากาศที่ความสูง 1,200 เมตร และตกที่บริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี
ผลคือผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 223 คน รวมไปถึงกัปตันและนักบินผู้ช่วยเสียชีวิตทั้งหมดในทันที ทำให้อุบัติเหตุครั้งนี้ ถือว่าเป็นหายนะทางการเดินทางทางอากาศที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น Niki Lauda เจ้าของสายการบิน Luada และอดีตนักแข่ง Formula 1 ชื่อดัง ได้เดินทางมายังที่เกิดเหตุทันที พร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งออสเตรีย เจ้าหน้าที่จากองค์กรการบินนานาชาติ (N.T.S.B.) และสมาพันธ์การบินสหรัฐฯ (F.A.A.) เพื่อสืบหาสาเหตุ
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น สาเหตุของการตกเกิดจากระบบควบคุมผันกลับแรงขับทำงานกลางอากาศจนเครื่องฉีกขาด (แปลง่ายๆ ว่ามีเครื่องยนต์ตัวหนึ่งผลักไปข้างหน้า อีกตัวหนึ่งผลักมาข้างหลังในเวลาเดียวกัน)
ทางองค์กรการบินนานาชาติสั่งให้บริษัทผู้ผลิตปรับปรุงแก้ไขระบบควบคุมผันกลับแรงขับของเครื่องบิน BOEING 767 ที่ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney PW400 ใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ทำงานระหว่างการบินอีก
ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขนี้ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีเลยทีเดียว ถึงจะผ่านการตรวจสอบจากองค์กรการบินนานาชาติและสมาพันธ์การบินสหรัฐฯ
หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงศพของผู้โดยสารออกมาจากจุดเกิดเหตุ ที่น่าเศร้ามีเพียง 72 จาก 223 ศพ เท่านั้นที่สามารถยืนยันตัวตนได้ ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ในสภาพที่แทบไม่สามารถยืนยันตัวได้
ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ รวมทั้งเชื้อสายอดีตเจ้าเมืองเชียงใหม่อย่าง หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ ร่วมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวเชียงใหม่เลยทีเดียว
สาเหตุที่การยืนยันตัวตนของผู้เสียชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากสภาพศพที่ได้รับความเสียหายจากแรงกระแทกจากการตกแล้ว ทันทีเครื่องบินตกมีชาวบ้านหลายร้อยคนบุกรุกเข้าไปยังจุดเกิดเหตุ แล้วปลดเสื้อผ้า และทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ออกจากตัวศพ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา สร้อยคอ เสื้อผ้า แม้กระทั่งเงินทอง (บางคนถึงกับตัดนิ้วศพเพื่อเอาแหวนไป) เพื่อนำไปขาย
โดยมีคนเล่าว่ามีพ่อค้าบางคนมาตั้งแผงรับซื้อของกันบริเวณนั้นกันเลยทีเดียว จนสุดท้ายมีศพจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และญาติๆ ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อนำศพกลับไป ก็ต่างต้องพบกับความผิดหวัง เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า ศพไหนที่เป็นญาติของพวกเขา
เหตุการณ์แบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่าทุกวันนี้ก็ยังเกิดขึ้นในสังคมไทย เหมือนทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวรถบรรทุกของประสบอุบัติเหตุทีไร จะต้องมีข่าวชาวบ้านเข้าไปหยิบฉวยข้าวของเหล่านั้นเสมอมา (และบางครั้งก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เช่นที่ตำบลทุ่งมะพร้าว จังหวัดพังงา ที่จะเขียนถึงในคราวต่อไป)
ปัจจุบันมีการทำสุสานเลาดาร์แอร์ไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่อุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี
ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่น่าสะเทือนใจที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเลยทีเดียว และยังเป็นการตีแผ่ด้านมืดอันน่าหดหู่ใจของชาวไทยอีกด้วย ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าที่ใดของโลกนะฮะ
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.