การได้มีคู่ครองที่ดี มีลูกน่ารักๆ และได้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว คือสิ่งที่เป็นเหมือนเป้าหมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ แต่การตั้งท้องและคลอดลูกนี่สิ ที่เหล่าคุณแม่ทั้งหลายต้องได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งจากคนในครอบครัว และสังคมภายนอก
การที่จะปล่อยให้คนท้องมาทำงานหนัก หรือเคร่งเครียดกับงานคงเป็นไปไม่ได้ และนั่นก็สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมทั่วโลก ที่ทุกประเทศต้องมีกฏหมายสวัสดิการรองรับสำหรับผู้ตั้งครรภ์
เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าแต่ละประเทศ เค้าจะมีวิธีการดูแล และให้ความช่วยเหลือด้านนี้กันอย่างไรบ้าง
1. ฟินแลนด์
สำหรับที่นี่คุณแม่สามารถลาคลอดบุตรได้นานถึง 105 วัน และหลังจากคลอดแล้ว ยังมีสวัสดิการให้ลาไปเลี้ยงดูบุตรในช่วงทารกได้มากถึง 158 วัน และยังสามารถลาเพิ่มได้อีก 60 วัน ต่อบุตรหนึ่งคน ในกรณีที่ให้กำเนิดเด็กหลายคน
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ทางรัฐก็มีให้เลือกระหว่างกล่องของขวัญหรือรับเงินก้อน 140 ยูโร ต่อบุตรหนึ่งคน อีกทั้งระหว่างลาคลอด คุณแม่ยังได้รับสวัสดิการจ่ายเงินชดเชยให้จากรัฐคิดเป็น 70% ของรายได้ต่อวันอีกด้วย
Credit: laurea.fi
2. ญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นคุณแม่สามารถลาช่วงก่อนคลอดได้ 6 อาทิตย์ และหลังจากให้กำเนิดบุตรแล้วยังลาต่อได้อีก 8 อาทิตย์ สำหรับพักฟื้น และมีสวัสดิการลาไปเลี้ยงดูบุตรแรกเริ่มได้ จนกว่าลูกน้อยจะมีอายุครบ 1 ปี 2 เดือน
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายชดเชย ทางรัฐมีนโยบายจ่ายให้คิดเป็น 2/3 ของฐานรายได้ และคุณแม่ยังได้รับการยกเว้นสิทธิในการจ่ายภาษีทุกชนิดในช่วงที่ลาคลอดอีกด้วย
Credit: Japan-Payroll
3. สวีเดน
อีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพชีวิตของประชากรดีสุดๆ สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถลาก่อนคลอดได้นานถึง 60 วัน แถมทางประกันสังคมยังจ่ายค่าชดเชยให้คิดเป็น 80% ของรายได้ต่อวันระหว่างลาคลอด
และหลังจากคลอดก็ต้องมีการลาเลี้ยงดูบุตร สามารถลาได้สูงสุดถึง 480 วัน โดยได้รับค่าชดเชย 390 วันแรกยังคงคิดเป็น 80% จากฐานรายได้ต่อเดือน ส่วน 90 วันที่เหลือ ก็ยังคงชดเชยให้แต่ด้วยอัตราที่น้อยลง
สวัสดิการยิ่งดีสุดๆ เพราะหลังจากที่บุตรคลอดออกมาแล้วทางรัฐยังจ่ายค่าเลี้ยงดูให้อีกด้วย เป็นจำนวนเงิน 1,050 SEK (4,320 บาท) ต่อเดือน จนถึงอายุ 16 ปีเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมสวัสดิการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่รองรับอีกมากมายนะเนี่ย
Credit: Sweden.se
4. เดนมาร์ก
ในเดนมาร์ก คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าใช้จ่ายระหว่างลาคลอดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างตัวลูกจ้างและบริษัท แต่คุณแม่สามารถลาคลอดได้นานถึง 52 อาทิตย์
โดยแบ่งเป็น 4 อาทิตย์ก่อนกำหนดคลอด 14 อาทิตย์หลังจากคลอด และส่วนที่เหลือยกให้เป็นสิทธิส่วนตัวในการใช้วันลา อีกทั้งคุณพ่อยังได้รับสิทธิ์ลา 2 อาทิตย์หลังจากคลอดได้อีกด้วย
ส่วนเรื่องเงินชดเชย ทางรัฐจะออกเงินสนับสนุนให้ตลอดระยะเวลา 52 อาทิตย์ ซึ่งถ้าหากคุณแม่คนไหนไม่ได้รับเงินชดเชยจากบริษัทจะยังคงได้เงินส่วนนี้จากรัฐอยู่ ส่วนใครที่ได้จากทั้งสองที่ก็นับว่าโชคดีสุดๆ
Credit: oresunddirekt.se
5. เยอรมนี
อีกหนึ่งประเทศสวัสดิการยอดเยี่ยม คุณแม่ได้รับวันลามากถึง 36 เดือน!! โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ให้เลือกลากันได้ตามสบาย อีกทั้งยังไม่ต้องขออนุมัติจากนายจ้างอีกด้วย
ส่วนด้านเงินชดเชยถ้าหากผู้ปกครองลดเวลาทำงานเหลือเพียงอาทิตย์ละ 30 ชั่วโมง จะได้รับเงินชดเชยเคิดเป็น 67% ของฐานรายได้ เป็นระยะเวลากว่า 12 เดือน ก่อนการคลอด ซึ่งจำนวนเงินสูงสุดจะอยู่ที่ 1,800 ยูโป
ในกรณีที่มีรายได้น้อย จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนแต่ไม่น้อยกว่า 300 ยูโร สวัสดิการนี้รวมถึงคนว่างงานและไม่ได้ทำงานด้วย
Credit: Eurofound
6. อังกฤษ
ในอังกฤษผู้ปกครองสามารถลางานได้สูงถึง 50 อาทิตย์ โดยภายใน 37 อาทิตย์แรกจะยังคงได้รับการจ่ายเงินชดเชยอยู่ อีกทั้งยังสามารถลาได้ทั้งพ่อหรือแม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทั้งคู่ หรืออาจวางแผนลาพร้อมกันเพื่อใช้เวลาร่วมอยู่กับลูกก็ได้
ในส่วนของเงินค่าเลี้ยงดูบุตร ทั้งคู่จะได้รับเงินจำนวน £139.58 ต่ออาทิตย์ หรือ 90% ของรายได้รวมต่ออาทิตย์ ซึ่งเงินส่วนนี้จะได้รับในช่วง 37 อาทิตย์แรกเท่านั้น
Credit: BBC
7. สหรัฐอเมริกา
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ สหรัฐอเมริกา ไม่มีนโยบายช่วยเหลือเงินชดเชย หรือเงินช่วยเหลือ ให้แก่คุณแม่ผู้ลาคลอดบุตรใดๆ ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลง หรือนโยบายจากบริษัทของนายจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวันลา เงินชดเชย หรือแม้แต่เงินช่วยเหลือเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่รัดกุมอย่างดี ในช่วงการลาคลอด
Credit: americanpregnancy.org
8. ไทย
สำหรับไทยเราคุณแม่หลายๆท่านคงเคยผ่านกันมาบ้างแล้ว ที่นี่คุณแม่ผู้ตั้งครรภ์มีสิทธิ์ลาคลอดได้สูงสุด 90 วัน ไม่ว่าจะลาก่อนหรือหลัง แต่รวมแล้วได้ไม่เกินระยะเวลาเท่านี้ ซึ่งระหว่างช่วงลาคลอด คุณแม่จะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง 45 วัน
และในช่วงที่ลาคลอดทางประกันสังคมจะช่วยเหลือเพิ่มอีก 50% ของฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 90 วัน อีกทั้งสิทธินี้ยังไม่สามารถใช้ได้กับกรณีคลอดบุตรคนที่สาม อีกด้วย
Credit: Frynn
แถมปิดท้าย…
9. นโยบายของบริษัท Google
ไม่น่าเชื่อว่านโยบายลาคลอดบุตรของ Google อาจจะดีกว่าบางประเทศด้วยซ้ำไป ซึ่งคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 18 อาทิตย์ แถมยังคงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มจำนวน หรือถ้าหากคุณแม่คนไหนประสบปัญหาที่คาดไม่ถึง ทางบริษัทก็พร้อมจะเพิ่มวันลาให้อีกเป็น 22 อาทิตย์ พร้อมกับเงินสวัสดิการเต็มจำนวน
แถมยังมีเรื่องเจ๋งๆ คือ ผู้หญิงคนแรกที่ใช้นโยบายลาคลอดนี้ Susan Wojcicki ซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของ YouTube ผู้เคยใช้สิทธิ์นี้ไปแล้วถึง 5 ครั้ง!!
Credit: Entrepreneur
เพราะการให้กำเนิดชีวิตใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ลองนึกภาพดูซิว่าครอบครัวที่กำลังรอคอยต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อยที่ออกมาลืมตาดูโลก
มันช่างเป็นภาพแห่งความปิติยินดีของมนุษย์ทุกเชื้อชาติเลยจริงๆ
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.