ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้น นักกีฬานับพันๆ คนจากนานาประเทศก็ต่างหวังที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับทั้งประเทศของตนและต่อตนเอง
แต่ล่าสุดในปี 2016 นี้ มีทีมพิเศษขึ้นมาทีมหนึ่ง ใช้ชื่อว่า Refugee Olympic Team หรือ ROT นั่นเอง เป็นทีมนักกีฬาที่รวมเอาผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากหลายๆ ประเทศ เพื่อมอบโอกาสที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับพวกเขา
และนี่ก็คือทั้ง 10 ตัวแทนจากแต่ละประเทศ แน่นอนว่าทุกคนอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยหรือคนไร้สัญชาติ ที่ต้องระหกระเหินออกจากประเทศแม่ของตนเองด้วยเหตุผลต่างๆ ล่ะ
1. Yusra Mardini
หลายๆ คนคงพอรู้จักเธอบ้างแล้ว เรียกได้ว่าเรื่องราวของเธอนั้นรุนแรงและกินใจมากๆ สาวน้อยวัย 18 ปีคนนี้ ประเทศบ้านเกิดของเธอคือซีเรีย จากเหตุการณ์ความไม่สงบและสงครามภายในประเทศ เธอต้องหนีออกจากประเทศของเธอด้วยเรือยางติดเครื่องยนต์พร้อมผู้อพยพอื่นๆ ราวๆ 20 ชีวิตบนเรือลำนั้น
ระหว่างหลบหนีกลางทะเล เครื่องยนต์เรือเสีย ทำให้เธอและพี่สาวต้องว่ายน้ำดันเรือพาผู้อพยพอีกกว่า 20 ชีวิตเข้าฝั่ง ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเต็มๆ จนทุกคนสามารถข้ามถึงฝั่ง ภายหลังเธอได้กลับไปพบกับครอบครัวของเธออีกครั้งที่เยอรมนี
เป้าหมายของเธอที่จริงแล้วคือโอลิมปิกครั้งหน้า แต่ด้วยศักยภาพและพรสวรรค์ของเธอ โค้ชว่ายน้ำในประเทศเยอรมนีแนะนำให้เธอลงแข่งปีนี้ไปเลย!!
2. Popole Misenga
อีกหนึ่งคนที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบาก ประเทศแม่ของเขาคือคองโก แม่ของเขาเสียชีวิตตอนอายุได้ 6 ขวบ หลังจากนั้นไม่นานพ่อของเขาก็เสียชีวิต ซ้ำภายหลังมาถูกจับแยกกับพี่ชายแท้ๆ ของตัวเองอีกเพราะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ทำให้เขาต้องหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในป่ากว่า 8 วันเต็ม
หลังรอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น เขาก็ถูกรับเลี้ยงโดยบ้านเด็กกำพร้า และที่นั่น เขาได้รู้จักกับกีฬายูโด ล่ะ ‘เด็กๆ ต้องการครอบครัว เพื่อสั่งสอนและชี้แนะพวกเขาให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง แต่ตอนนั้นผมไม่มีใครอยู่เลย ยูโดเปรียบเสมือนครอบครัว เหมือนพ่อแม่สำหรับผม สอนให้ผมใจเย็น มีระเบียบ รู้จักผิดชอบชั่วดี สอนผมทุกๆ อย่าง’ เขากล่าว
ถึงแม้ว่าเขาจะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติคองโกในภายหลัง แต่เขาก็ต้องหนีออกจากประเทศเพราะเหตุผลทางด้านการเมือง เขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศบราซิลมาตั้งแต่ปี 2013 ตอนนี้เขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมไร้สัญชาติแล้วล่ะ!!
3. James Nyang Chiengjiek
นักวิ่งชาวเคนย่าคนนี้ก็ไม่ได้มีชีวิตสวยหรูมากนัก เขาหนีออกจากประเทศของตัวเองซึ่งตอนนั้นเรียกว่าซูดานใต้ เพื่อที่จะไม่ต้องเข้ารับการฝึกเป็นทหารตั้งแต่วัยเด็กของกลุ่มกบฏภายในประเทศ หลังสบโอกาสเขาก็หนีเข้าประเทศเคนย่าทันที และเขาก็ได้เริ่มฝึกวิ่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ถึงแม้จะไม่มีอุปกรณ์สำหรับฝึกหรือรองเท้าเหมือนคนอื่นๆ พละกำลังและความตั้งใจของเขากลับไม่เห็นเรื่องนี้เป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย ถึงขั้นว่าเด็กๆ ในโรงเรียนต้องผลัดแบ่งรองเท้าวิ่งให้ใส่กันหลายๆ ครั้งในแต่ละวัน บางครั้งเขาก็ไม่ได้ใส่เลย
‘ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ผมคิดว่าผมเป็นคนที่เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ และเมื่อพระเจ้ามอบสิ่งเหล่านั้นให้คุณแล้ว อย่าลังเลที่จะใช้มัน’ James Nyang Chiengjiek
4. Rami Anis
อีกหนึ่งนักว่ายน้ำที่หนีออกมาจากประเทศซีเรีย ตอนนี้เขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างปี 2011 นั้นเขาอาศัยอยู่ในเมือง Aleppo มีทั้งข่าวการลักพาตัวและการวางระเบิดอยู่ร่ำไป ครอบครัวเลยส่งเขาไปอยู่ประเทศตุรกีกับพี่ชายเสียก่อน ซึ่งในตอนนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าเขาจะไม่ได้กลับไปอีกแล้ว…
ในตุรกีเขาได้ฝึกว่ายน้ำกับสโมสรว่ายน้ำแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าตอนนั้นเขาก็ยังไม่มีสัญชาติ แต่ความตั้งใจของเขาไม่ได้เห็นเรื่องนี้เป็นอุปสรรค เขาต้องระหกระเหินในอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งกรีซ ตุรกี และสุดท้ายเขาเลยมาปักหลักที่ประเทศเบลเยี่ยมและได้สถานะผู้ลี้ภัยในที่สุด
ถึงแม้จะต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ เขาก็ไม่เคยรู้สึกว้าเหว่หรือเป็นคนไร้บ้านแม้แต่น้อย ‘การว่ายน้ำคือบ้านของผม ผมไม่เคยรู้สึกเดียวดายเลย’ เขากล่าว
5. Yolande Mabika
อีกหนึ่งนักยูโดจากประเทศคองโก ตอนเด็กๆ เธอต้องถูกแยกกับครอบครัวของเธอเพราะสงครามภายในประเทศ หลังจากวิ่งหนี เธอก็ถูกพบตัวโดยเฮลิคอปเตอร์ค้นหา และถูกส่งตัวไปที่ Kinshasa เมืองหลวงของประเทศ และที่นั่นเธอได้รู้จักกับกีฬายูโด เหมือนเพื่อนร่วมชาติอีกคนของเธอล่ะ
หลังจากฝึกฝนอยู่หลายปี เธอก็ได้เข้าแข่งในรายการสำคัญๆ ทั้งหมด ‘ยูโดไม่เคยให้เงินฉัน แต่ให้จิตใจที่แข็งแกร่งและแน่วแน่ให้กับฉัน’ เธอกล่าว
ในปี 2013 โค้ชของเธอก็ยึดพาสปอร์ตของเธอเพื่อไม่ให้เธอเข้าแข่งขันในรายการใหญ่ปีนั้นที่ริโอ เธอตัดสินใจว่าเธอเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง เธอหนีออกมาจากโรงแรม กลายเป็นคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนในริโอ และกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศบราซิล จนสุดท้ายเธอก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ROT ในปีนี้!!!
6. Paulo Amotun Lokoro
ในวัยเด็กนั้น Paulo อาศัยอยู่กับครอบครัว เป็นเด็กเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าแห่งประเทศซูดาน เขามีชีวิตที่สงบสุขและเรียบง่าย แต่ด้วยสถานการณ์สงครามที่ร้อนระอุแทบจะตลอดภายในประเทศ ทำให้เขาต้องหนีออกมาและกลายมาเป็นผู้อพยพในประเทศเคนย่า
ที่นั่นเขามีโอกาสได้เล่นกีฬาและฝึกวิ่ง โดยมีนักกีฬาชื่อดังอย่าง Tegla Loroupe นักวิ่งชาวเคนย่าเป็นผู้ฝึกสอน จนเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งมีชื่ออีกคนหนึ่ง ‘ผมรู้ว่าผมเข้าแข่งขันในนามของผู้ลี้ภัย ผมก็เคยเจอสถานการณ์แบบพวกเขามาก่อน ถ้าผมทำได้ดีล่ะก็ ผลประโยชน์ที่ผมได้รับผมจะนำมันไปช่วยเหลือครอบครัวของผม และผู้คนของผมล่ะ’ Paulo กล่าว
7. Rose Nathike Lokonyen
อีกหนึ่งนักกีฬาวิ่งจากประเทศซูดาน เธอเล่าว่าเธอค้นพบพรสวรรค์ของเธอโดยบังเอิญ หลังจากที่เธอหนีไปที่ประเทศเคนย่าสำเร็จในวัย 10 ขวบ ครูของเธอแนะนำให้เธอลองไปวิ่งแข่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตรดู ‘นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยมั้งที่ฉันวิ่งไกลขนาดนั้น แต่ฉันวิ่งเข้าเป็นอันดับ 2 ของรายการล่ะ’ เธอกล่าว
หลังจากนั้นเธอก็ฝึกฝนการวิ่งมาตลอด เธอหวังว่าเธอจะสามารถนำความสำเร็จกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของเธอได้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้คนที่ใฝ่หาความสันติและการอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขในท้ายที่สุด
8. Yonas Kinde
นักวิ่งอีกคนจากประเทศเอธิโอเปีย เขาต้องหนีออกจากประเทศของตัวเองด้วยเหตุผลทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะหนีมาอยู่ที่ประเทศลักเซมเบิร์กหลายปีแล้ว เขาก็ยังลำบากใจเสมอเวลาถูกถามเกี่ยวกับประเทศของเขาและเหตุผลที่หนีมา
ระหว่างที่เรียนและซ้อมวิ่งอยู่ เขาก็ต้องปลีกตัวมารับจ้างขับแท็กซี่ไปด้วย กระนั้นเขาก็ลงวิ่งแข่งขันมาราธอนที่จัดขึ้นหลายๆ ประเทศ ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี จนได้รับเหรียญและรางวัลมาแล้วมากมาย
เขามีความตั้งใจที่จะให้ความสำเร็จของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ลี้ภัยจากรอบโลกที่ว่า ‘ถึงจะไม่มีอุปกรณ์ โอกาส หรือเงินทุนเท่านักกีฬาจากประเทศอื่นๆ แต่เราก็สามารถทำได้ไม่ต่างจากพวกเขา!!!’
9. Yiech Pur Biel
ในปี 2005 เขาอายุได้เพียง 11 ปีเท่านั้น และต้องหนีออกจากซูดาน บ้านเกิดของตัวเอง และต้องใช้ชีวิตกว่า 10 ปีในค่ายของผู้อพยพ และราวๆ ปีก่อน เขาก็เริ่มฝึกวิ่ง และกลายมาเป็นนักกีฬาวิ่งโอลิมปิกในที่สุด!!!!!
เส้นทางการมาสู่โอลิมปิกของเขานั้นเริ่มขึ้นง่ายๆ อย่างการรู้ข่าวว่าศูนย์ฝึกวิ่งชื่อดังแห่งประเทศเคนย่า Tegla Loroupe ได้ประกาศคัดตัวนักกีฬา เขาเลยลองเสี่ยงดวงไปสมัครดู ถึงแม้เขาจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่หลังจากคัดตัวเขาก็ได้รับเชิญให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเลยทีเดียว
‘ในค่ายผู้อพยพ เราไม่มีศูนย์ฝึกหรือแม้กระทั่งรองเท้าที่จะใส่’ Yiech กล่าว นี่ยังไม่นับสภาพอากาศที่ร้อนระอุอยู่ตลอดเวลาของประเทศเคนย่าอีกนะ แต่ถึงกระนั้น เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเขา และตอนนี้เขาเรียกได้ว่ากลายเป็นลูกศิษย์คนใกล้ชิดของ Tegla Loroupe นักวิ่งระดับโลกชาวเคนย่าที่เป็นคนก่อตั้งสมาคมนี้เองเลยล่ะ
10. Anjelina Nada Lohalith
ตั้งแต่หนีออกมาจากประเทศซูดานในวัย 6 ขวบ เธอก็ไม่ได้ติดต่อกับพ่อแม่ของเธอหรือรู้เกี่ยวกับข่าวคราวของพวกเขาอีกเลย ตอนนี้เธออายุได้ 21 ปีเต็ม และเธอหวังว่า การที่เธอเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกนั้นจะทำให้พ่อแม่ทราบข่าวของเธอและทำให้พวกเขาได้พบกันอีกครั้ง
หลังจากที่หนีมาอยู่ที่ประเทศเคนย่าในปี 2002 เธอใช้เกือบทั้งชีวิตที่ผ่านมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยใน Kakuma เธอเริ่มวิ่งตั้งแต่ชั้นประถม และภายหลังก็รู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางด้านนี้และฝึกฝนเรื่อยมา
ถึงแม้การวิ่งจะเป็นพรสวรรค์ของเธอ แต่การเจอครอบครัวของเธอมากกว่าที่ทำให้เธอยังสู้ต่อ ‘ความใฝ่ฝันของฉันก็คือการสร้างบ้านดีๆ สักหลังให้พ่อและแม่ของฉันเท่านั้นเอง’ เธอกล่าว
จะว่าไปแล้ว นักกีฬาทั้ง 10 คนนี้ เป็นผู้ชนะในการใช้ชีวิตและเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ของตัวเองแล้วล่ะ การที่ได้เข้าแข่งนั้นก็เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพละกำลังและความแข็งแกร่งภายในจิตใจของพวกเขามากกว่า
เพื่อนๆ ก็อย่าลืมเอาพวกเขาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตด้วยน้าาา ^^
ที่มา: Aplus
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.