เมื่อพูดถึงปัญหายาเสพติด มักจะเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศนั้น ก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ตอนนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่ทำสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจัง โดยประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ซึ่งได้สั่งฆ่าผู้ค้ายาเกือบ 2,000 ราย ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากขึ้นเป็นประธานาธิบดี
สำนักข่าว BBC ได้ติดตามเรื่องนี้ผ่านผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมือสังหารพ่อค้ายาเสพติดในฟิลิปปิส์
มือสังหารหญิงคนนี้ใช้ชื่อว่า มาเรีย อันเป็นนามแฝง เธออยู่กับสามีและลูกในย่านคนจนของกรุงมะนิลาและไม่มีรายได้ประจำ
สามีเธอทำงานให้กับตำรวจ โดยรับจ้างสังหารลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่าย รวมทั้งรับจ้างสังหารกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดด้วย ต่อมาเมื่อรัฐบาลต้องการมือปืนที่เป็นผู้หญิง เพื่อเข้าถึงตัวเป้าหมายได้มากขึ้น สามีจึงแนะนำให้รับงานนี้ ซึ่งต้องทำงานกันเป็นทีม ซึ่งนอกจากเธอแล้ว ในทีมนั้นมีผู้หญิงอีก 3 คน
เธอเล่าให้ฟังว่า “ฉันได้เริ่มทำงานนี้ครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในจังหวัดที่ไม่ไกลจากที่นี่ ตอนนนั้นฉันรู้สึกกังวลมาก เพราะมันเป็นครั้งแรกของฉัน”
ตั้งแต่ Duterte ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาก็ได้กวาดล้างยาเสพติดด้วยการสั่งให้ตำรวจสังหารพ่อค้ายาทุกรายที่ขัดขืนการจับกุม มาเรียเองก็เคยสังหารคนมาแล้วถึง 6 ราย โดยทุกรายนั้นถูกเธอยิงเข้าที่หัวในระยะประชิด
สงครามยาเสพติดนี้ทำให้เธอมีงานมากขึ้น แต่มันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากด้วยเช่นกัน เพราะกลัวว่าครอบครัวที่เธอไปสังหารนั้น จะตามมาแก้แค้นในภายหลัง ทำให้เธอต้องย้ายบ้านหนีบ่อยๆ
โดยในการทำงานของเธอจะได้ครั้งละประมาณ 15,000 บาท ในจำนวนนี้ยังต้องแบ่งให้เพื่อนร่วมทีมด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนมากสำหรับคนยากจนในฟิลิปปินส์เช่นเธอ
การรับจ้างสังหารคนนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในฟิลิปปินส์ แต่ก่อนที่ Duterte จะมาดำรงตำแหน่งนั้นไม่ได้มีมากขนาดนี้ เพราะเขาได้บอกไว้ว่าจะสังหารอาชญากรให้ได้ 100,000 รายในช่วง 6 เดือนแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง
คำพูดหนึ่งที่เขาได้เตือนผู้ค้ายาเสพติดว่า “อย่าทำลายประเทศของผม เพราะผมจะฆ่าคุณ”
ผลจากการกวาดล้างยาเสพติดของรัฐบาลคือเกิดการแพร่กระจายของยาเสพติดที่ตกผลึก (ยาไอซ์) หรือที่เรียกว่า “ชาบู” ซึ่งคนฟิลิปปินส์จะรู้จักกันดี
ชาบู คือ ยาเสพติดที่มีราคาถูกลง ผลิตง่าย และมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ ทำให้มันได้รับความนิยมสูงจากคนในสลัม โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพขับรถบรรทุกที่ต้องทำงานหนัก
คนที่ถูกสังหารนั้นมักจะเป็นคนในสลัมของมะนิลา คนจน คนขับรถสามล้อ คนว่างงาน และบ่อยครั้งที่ข้างๆ ศพของคนที่ถูกสังหารจะมีข้อความเขียนไว้ในทำนองว่า ‘ถ้าไม่อยากเจอจุดจบเช่นนี้ อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หรือ อย่ายุ่งกับยาเสพติด’
สงครามนี้เหมือนเป็นการต่อสู้กับกลุ่มคนที่ยาก จนที่สุดของประเทศ ในขณะเดียวกันที่ Tondo ย่านที่อยู่ถัดจากกรุงมะนิลา พวกเขาเห็นว่าสงครามครั้งนี้ ทำให้ ‘ชาบู’ ระบาดมากขึ้น มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก และบางคนที่ถูกสังหารก็เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
โรเจอร์ (นามสมมุติ) เป็นหนึ่งในคนที่ถูกตามล่า เพราะเขาติดยาตั้งแต่วัยหนุ่ม และต่อมาเขาได้รับยามาขายด้วย ทำให้เขาต้องย้ายที่อยู่บ่อยมาก เพื่อหนีจากการถูกตามสังหาร
“ทุกๆ วัน ทุกชั่วโมง ผมไม่สามารถเอาความกลัวออกไปได้ ผมต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มันทั้งเหนื่อยและน่ากลัว เพราะเราไม่รู้เลยว่า คนที่มาหาเรานั้น จะเป็นคนส่งยา หรือจะเป็นคนที่มาสังหารเรากันแน่ ผมไม่สามารถไว้ใจใครได้เลย ในแต่ละวัน ผมได้แต่มองหาที่ซ่อนไปเรื่อยๆ”
แต่แปลก แม้จะกลัว แต่เขากลับไม่รู้สึกผิดที่เป็นผู้ค้ายาเลย โดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่เชื่อว่าตัวเองทำผิด เพราะผมไม่เชื่อว่าคนค้ายาทุกคนจะก่ออาชญากรรมได้ ผมแค่ขายยา ไม่ได้ขโมยหรือฆ่าใครตาย”
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศกวาดล้างยาเสพติด ครั้งแรกเขาเองก็ไม่ได้คิดมาก เพราะคิดว่ารัฐบาลจะสังหารเฉพาะพ่อค้ารายใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่พ่อค้ารายย่อยอย่างเขา แต่เขาคิดผิดถนัด แม้อยากจะกลับใจ มันก็สายไปแล้ว เพราะถ้ายอมตอนนี้อาจจะถูกตำรวจฆ่าก็ได้
ทางด้าน มาเรีย ก็เริ่มรู้สึกผิดกับการสังหารคน เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกผิดและเครียดมาก เพราะฉันกลัวว่าครอบครัวของคนที่ฉันสังหารจะกลับมาทำร้ายฉันในภายหลัง” เธอยังกังวลเกี่ยวกับลูกๆ ของเธอ เพราะไม่อยากให้พวกเขาคิดว่า มีชีวิตอยู่ได้เพราะเงินที่พ่อแม่ไปสังหารคนมา
ตอนนี้เธอเหลืออีก 1 ภารกิจ นั่นหมายความว่า ต้องสังหารอีกแค่เป้าหมายเดียวเท่านั้น และตั้งใจที่จะเลิกอาชีพนี้ แต่เจ้านายได้ขู่ว่า ถ้าออก จะสังหารทุกคนในทีม และไม่ได้คุยกันเรื่องนี้อีกเลย เธอทำได้เพียงขอให้พระเจ้าอภัยให้ แต่ไม่กล้าบอกว่าได้ทำอะไรลงไป
.
.
.
การจัดการกับยาเสพติดด้วยวิธีการนี้ แม้จะดูเด็ดขาด แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า จะทำให้มียาเสพติดแพร่ระบาดมากขึ้นด้วย แล้วเพื่อนๆ ล่ะ คิดยังไงกับวิธีการนี้?
ที่มา bbc
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.