เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาในโลกโซเชียลมีการแชร์คลิปของคุณแม่ที่แกล้งทำเป็นตะปูปักนิ้ว เพื่อพิสูจน์ความรักของลูก ทำให้ชาวเน็ตต่างก็ปลาบปลื้มใจกับความน่ารักของเด็กน้อยในคลิปไปตามๆ กัน
แต่กลับกัน บางส่วนก็มีดราม่าและตั้งข้อสงสัยถึงประเด็นในคลิปว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมารึเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า #เหมียวหง่าว ขอไม่หยิบยกพูดถึงตัวคลิป เนื่องจากหลายๆ คนคงจะได้ชมกันไปแล้วเนอะ
และล่าสุดทางเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ที่มีแอดมินเพจเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นกับเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
เพราะการสร้างความกลัวให้กับเด็กนั้น จะส่งผลไปถึงนิสัยส่วนตัวเมื่อโตขึ้นไปได้ด้วย และยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของคนที่เขารักด้วยแล้ว จะทำให้เด็กกลัวมากยิ่งขึ้นไปอีก คนทำให้เขากังวลไม่เป็นอันหลับอันนอน และทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย
และหากเกิดความกลัวขึ้นบ่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ทำให้พวกเขารู้สึกไม่เชื่อมั่นในตนเอง มองโลกในแง่ร้าย วิตกกังวล และมีอาการซึมเศร้า
บางส่วนของเนื้อหาจากโพสต์นั้น ที่ทางเพจอนุญาตให้ CatDumb เผยแพร่ได้..
ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ(fantasy)มาก
…. เด็กเล็กๆจึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน
เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็ก ขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะหนีออกจากบ้าน ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป
ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กๆฝันร้าย นอนไม่หลับ
ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลแบบง่ายๆว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก”
จริงอยู่ที่เด็กอาจจะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจอะไรชัดเจนนัก แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นมีจริง และมันมีผลกระทบกับเด็กได้จริงๆ
ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งหมอเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กคนไหนตั้งใจอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ารักเด็กก็ไม่ควรแกล้งให้เด็กกลัวจนทำให้เกิดความทรงจำที่ฝังใจ เพราะมันจะติดตัวของเด็กไปตลอดชีวิต
สามารถเข้าไปอ่านโพสต์แบบเต็มที่โพสต์ด้านล่างนี้…
ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ ว่าความกลัวนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กไปถึงตอนโต ก็ลองไปชมการทดลองของนักจิตวิทยาชื่อดังของต่างประเทศกัน…
John B Watson บิดาแห่งพฤติกรรมนิยมได้ทำการทดลองที่มีชื่อว่า Little Albert experiment โดยนำเด็กชายที่มีชื่อว่า Albert มานั่งเล่นกับหนูขาวหลังจากนั้นก็ทำเสียงดังให้เด็กตกใจกลัวซ้ำๆ หลายครั้ง
ผลก็คือเมื่อเด็กน้อย Albert ได้เห็นหนูก็ทำให้เขากลัวและร้องได้ออกมา (โดยไม่มีเสียงดัง) และนั่นก็รวมไปถึงสัตว์หรือสิ่งของที่มีลักษณะเป็นสีขาวมีขนปุย อย่างเช่นหมาสีขาว หรือแม้แต่หนวดซานตาคลอสก็ตาม
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก็ติดตัวของเจ้าหนู Albert จนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกันกับคนที่หวาดกลัวอะไรแปลกๆ นั้นเองก็มีสาเหตุคล้ายๆ กันกับการทดลองข้างต้น คือมีความเชื่อมโยงความกลัวบางอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก จนทำให้ความกลัวติดตามมาจนถึงปัจจุบัน
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Little Albert experiment)
แล้วชาวเหมียวของเรามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้าง? ลองแสดงความคิดเห็นเข้ามากันได้เลยนะจ๊ะ
ที่มา : wikipedia, เข็นเด็กขึ้นภูเขา
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.