ถ้าพูดถึงประเทศเวเนซูเอล่า หลายคนอาจนึกถึงดินแดนที่เต็มไปด้วยสาวงาม จนสามารถครองมงกุฎการประกวดนางงามระดับโลกมาได้หลายต่อหลายครั้ง หรืออาจจะนึกถึงประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุด แต่รู้หรือไม่ ตอนนี้ดินแดนแห่งความงามแห่งนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จนแทบกลายเป็นรัฐล่มสลายเลยทีเดียว
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2003 เมื่อ นายอูโก้ ซาเบส หรือ ฮิวโก้ ซาเวส ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาในขณะนั้น ได้ออกนโยบายลดการนำทุนออกนอกประเทศ ด้วยการแบ่งอัตราการแลกเปลี่ยนเงินออกเป็นสามระดับ โดยระดับแรกคือ 6 โบลิวาร์ต่อ 1 ดอลลาร์สำหรับข้าวของจำเป็น ระดับที่สองคือ 12 โบลิวาร์ต่อ 1 ดอลลาร์ สำหรับข้าวของบางอย่างที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล และระดับสุดท้าย 50 โบลิวาร์ต่อ 1 ดอลลาร์สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการแลกเงิน
(นายฮิวโก้ ซานเชส อดีตประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งกว่า 16 ปี ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อปี 2013 และได้นาย นิโกลัส มาดูโร สิบทอดตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน)
ด้วยมาตรการนี้เอง ทำให้ข้าวของจำเป็นส่วนมากถูกนำเข้าและขายในราคาที่ถูกเกินจริง จึงมีเหล่าพ่อค้าตลาดมืดลักลอบนำสินค้าจำเป็นเหล่านั้นไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากได้ราคาสูงกว่าในประเทศ และด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้ ทำเงินโบลิวาร์ไม่ค่อยมีการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ยังมีการทุจริตในระบบการแลกเปลี่ยนดังกล่าวทั้งจากเหล่านักการเมืองและนายทุน ทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินแบบหลายอัตรานี้ ไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติเท่าไหร่
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ดำเนินนโยบายนี้ รัฐบาลของเวเนซุเอลายังได้ออกนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดอีกหลายอย่าง เช่นเข้าไปควบกิจการที่ดำเนินโดยเอกชนรวมถึงบริษัทจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ บ่อน้ำมัน ธนาคาร อุตสาหกรรมต่างๆ จนไม่เกิดการแข่งขันและยังทำให้การบริหารเต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังออกนโยบายประชานิยมอย่างสุดโต่งอีกหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาน้ำมันจนเหลือแค่ลิตรละ 70 สตางค์ และอุนหนุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้ถูกลงเพื่อเอาใจประชาชน รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาสังคมใหญ่ๆ หลายโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชาชนในประเทศ
แน่นอนว่าการดำเนินนโยบายแบบนี้ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจล้มละลายเป็นอย่างมาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือๆ จากการขายน้ำมัน (ซึ่งตอนนั้นน้ำมันแพงมาก) มาช่วยหล่อเลี้ยงนโยบายประชานิยมเหล่านั้น
แต่ในปี 2014 สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันถึง 96 เปอร์เซ็นจากรายได้การส่งออกทั้งหมออย่างเวเนซุเอลา ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง โครงการประชานิยมต่างๆ การเป็นภาระอันหนักหน่วงของรัฐบาล
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วประเทศ เงินโบลิวาร์ถูกลดค่าลงเป็นอย่างมาก สิ่งของอุปโภคบริโภคก็ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นภาวะขาดแคลน รวมถึงยารักษาโรคต่างๆ ด้วย
ดั่งที่เราได้เห็นภาพชาวเวเนซุเอลาตื่นแต่เช้าไปแย่งชิงของต่างๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ต คนไข้กว่า 20,000 คนทั่วประเทศขาดยารักษาโรค และมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีงบดำเนินการ
เมื่อรัฐไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนได้ ทำให้มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นกองโจรเพื่อปล้มสะดม และแย่งชิงสิ่งของจากผู้อื่น แม้จะมีความพยายามในการปราบปรามจากรัฐบาล แต่ในสภาพที่รัฐบาลยังหาความมั่นคงไม่ได้นี้ การปราบกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
อย่างเช่นหมู่บ้านชาวประมงหมู่บ้านหนึ่งต้องประสบกับปัญหาโจรสลัดโจมตี โดยมีชาวประมง 9 คนถูกฆ่าและปล้นชิงสิ่งของระหว่างออกไปหาปลา ซึ่งผู้ที่เป็นโจรสลัดนั้น ก็คือชาวประมงด้วยกันนั่นเอง แต่เพราะระบบการขายปลาได้ล่มสลายไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้พวกเขาต้องผันตัวเองมาเป็นโจรสลัดเพื่อความอยู่รอด
ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ดินแดนแห่งนางงามจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างไร แต่เชื่อว่ามันจะต้องเป็นบทเรียนสำคัญที่ชาวเวเนซุเอลาไม่มีวันลืมอย่างแน่นอน
เรียบเรียง #เหมียวอ๊อดโด้
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.