ไขข้อข้องใจ ความแตกต่าง ‘กัญชง’ และ ‘กัญชา’ พืชตระกูลเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน!!

เพิ่งมีประกาศอนุมัติจาก ครม. ไปเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับเรื่องการจัดประเภทให้พืช ‘กัญชง’ สามารถนำมาปลูกได้อย่างถูกกฏหมาย แต่ไม่ใช่ทั่วประเทศนะจ๊ะ โดยทาง ครม. ได้ทำการนำร่องให้ถูกกฏหมายได้เฉพาะใน 6 จังหวัด 15 อำเภอ เท่านั้น

มีการแชร์กันทั่วโลกออนไลน์ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเสรีการสูบกัญชา และเหล่าสายเขียวคงจะฟินกันอย่างมาก แต่… อยากจะให้ทำความเข้าใจกันอีกนิดนึง

#เหมียวบ็อบ เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่สงสัยว่า อะไรคือ ‘กัญชง’ แล้วมันแตกต่างจาก ‘กัญชา’ ยังไง? วันนี้แหละเราจะพาไปไขข้อข้องใจให้รู้แจ้งแถลงไขกันไปเลย

(ขอตัวไปเติมซัก 1 หลุม เพื่อเพิ่มความเพลินในการเขียนก่อนนะ ปรู๊ดๆๆๆ)

 

นี่คือต้นกัญชง

 

ส่วนนี่คือต้นกัญชา

 

อะไรคือ ‘กัญชง’?

มาว่ากันด้วยเรื่องของลักษณะทางของต้นกันก่อน กัญชง (Hemp) นั้นจะเป็นพืชที่ไม่เน้นดอกเหมือนกัญชา มีขนาดลำต้น และใบที่เรียวยาวกว่า อีกทั้งยังถูกจัดให้เป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในตระกูลเดียวกับกัญชา (Marijuana) ด้วยเช่นกัน

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชที่ดูคล้ายคลึงกัน อยู่ในตระกูลเดียวกันเหมือนญาติพี่น้อง แต่ลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันก็คือ กัญชง จะมีสารที่เรียกว่า ‘THC’ (เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์) และ ‘CBD’ (แคนนาบินอยด์) ที่น้อยกว่ามาก น้อยจนชนิดที่ว่า จะเอามาใช้เสพให้เมาก็คงไม่คุ้มกับควันที่ถูกอัดเข้าไปในปอดเราเท่าไหร่

 

ไร่กัญชง

Cr. leafscience

 

แล้วมันเอาไปใช้เป็นสารเสพติดได้มั้ย?

การที่เราสูบกัญชาแล้วรู้สึก เคลิบเคลิ้ม เมา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า ‘High’ เกิดมาจากการที่สาร ‘THC’ ออกฤทธิ์เชื่อมต่อกับส่วนที่เรียกว่า ‘CB1’ (แคนนาบินอยด์ รีเซพเตอร์) ที่อยู่ในสมองของเรา และส่วนที่ถูกนำมาใช้เสพ เพื่อให้ได้สาร ‘THC’ เข้าสู่ร่างกาย คือส่วนดอกของกัญชา

แต่ทว่าดอกของพืชกัญชงนั้นมีขนาดที่เล็กเอามากๆ และมีสารดังกล่าวน้อยมาก จนชนิดที่ไม่สามารถทำให้เกิดอาการเมาได้

เคยมีงานวิจัยจากหลายสำนัก ได้เปรียบเทียบอย่างชี้ชัดแล้วว่า สารดังกล่าวในต้นกัญชงเฉลี่ยมีเพียงแค่ 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับดอกกัญชา ที่มีสูงมากกว่าหลายเท่า ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ และการเลี้ยงดู โดยกัญชาอาจจะเน้นปลูกในระบบปิด เพื่อควบคุมให้ได้ดอกที่มีคุณภาพปริมาณ ‘THC’ ตามที่ต้องการ

ในขณะที่กัญชงจะเน้นปลูกในระบบเปิด เพื่อให้ต้นมีความสูงใหญ่ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย และสร้างผลตอบแทนต่อเกษตรกรได้สูงในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีตลาดหลายด้านรองรับ เพื่อนำไปต่อยอดใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ

ซึ่งในหลายๆประเทศได้มีการจัดให้เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน

 

สังเกตุได้ว่าส่วนดอกของมันมีน้อยกว่ามาก ถ้าเทียบกับต้นกัญชา

Cr. Leafly

 

แล้วมันทำประโยชน์อะไรได้บ้าง?

ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของ ‘กัญชง’ ก็คือมันมีส่วนต่างๆของลำต้นที่แข็งแรงมากเป็นพิเศษ จึงมีการนำมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมกันมาอย่างยาวนาน

ยกตัวอย่างเช่นการนำเส้นใย มาทำเป็นสิ่งทอ เสื้อผ้า หรือแม้แต่แบรนด์รองเท้าผ้าใบชื่อดังหลายๆยี่ห้อ ก็ได้มีการนำเส้นใยมาเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงได้มีการวิจัยเพื่อนำเส้นใยไปผลิตเป็นพลาสติกรูปแบบใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

และเชื่อหรือไม่ว่าแม้แต่ในวงการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนตร์ ก็ได้มีการนำเส้นใยของมันมาใช้งานแล้วเช่นกัน หรือจะเป็นลำต้นของมัน ที่มีความแข็งแรงทนทานมากพอที่จะนำมาใช้เป็น อิฐ หรือคอนกรีต สำหรับงานก่อสร้างต่างๆ

เช่นเดียวกับส่วนของดอก ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ โดยการสกัดเอาสาร ‘CBD’ มาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในหลายๆโรค เช่นโรคลมชัก หรือโรคทางด้านประสาทต่างๆ อีกทั้งเมล็ดของมัน ก็สามารถนำมาสกัดเป็นโปรตีน น้ำมันและยังเคยมีกรณีคนนำเอาเมล็ดของมันมาประยุกต์ใช้เป็น ‘เบอร์เกอร์’ อีกด้วยนะ เจ๋งมั้ยล่ะ!!

 

เบอร์เกอร์จากร้าน ‘Bay Roots’ ที่ทำมาจากเมล็ดกัญชงจริงๆ

Cr. berkeleyside.com

 

ตัวอย่างรองเท้าจากยี่ห้อ ‘Vans’ ที่ใช้เส้นใยจากกัญชงมาทำจริงๆ

Cr. Vans.com

 

ในอุตสาหกรรมรถยนตร์ ‘BMW’ ก็ได้มีการนำกัญชง มาใช้สำหรับส่วนประกอบของรถด้วยเช่นกัน

Cr. truthonpot

 

‘Hempcrete’ อิฐคอนกรีตที่ทำขึ้นมาจากกัญชง มีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า ทนทานกว่า เบากว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

Cr. Hempcrete

 

หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ได้มีการนำเอาเมล็ดจาก ‘กัญชง’ มาทำเป็นอาหารเม็ดที่เปี่ยมไปด้วยสารอาหาร เช่นกัน

(ดูสายตาเจ้าเหมียวซะก่อน)

Cr. Canna-Pet.com

 

แต่สำหรับนักกินผัก นักกินผลไม้ ทั้งหลาย #เหมียวบ็อบ ขอเตือนนิดนึงว่า ยังไงซะ ‘กัญชา’ ก็ยังถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ดี

เพราะฉะนั้นแล้วก็อย่าเพิ่งรีบร้อนใจ เผลอคิดไปว่า ‘ไทยแลนด์กลายเป็นแดนเสรีกัญชา’ ไปซะก่อนล่ะ เดี๋ยวโดนพี่ตำรวจเค้าจับแล้วจะยุ่งเอานะ

อ้างอิงข้อมูล: theweek, leafscience, mercola

Comments

Leave a Reply