ช่วงสาระความสามารถในการ ‘กระดิกหู’ ทำไมบางคนทำได้ แต่บางคนดันทำไม่ได้!!?

ทำตัวไร้สาระมามากละ วันนี้ #เหมียวบ็อบ ขอทำตัวหาสาระน่ารู้มาให้ทุกคนได้อ่านกันบ้าง เชื่อว่าถ้าถามถึงเรื่องความสามารถพิเศษล่ะก็ หลายคนอาจจะบอกว่าตัวเองห่อลิ้นได้ ตัวเองกระดิกจมูกได้ หรือบางคนอาจจะ ‘กระดิกหูได้’!!

ทว่าการกระดิกหูดุ๊กดิ๊กๆ เนี่ย บางคนกลับทำไม่ได้เนี่ยสิ จะพยายามเพ่งจิต บังคับลมปราณไปควบคุมหูให้กระดิก ยังไงมันก็ไม่ยอมไป ด้วยความสงสัยเราจึงไปค้นหาข้อมูลจาก LiveScience เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมการกระดิกหูถึงได้เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะคนกันน้อ?

 

 

ต้องบอกก่อนว่าเดิมทีการขยับกล้ามเนื้อส่วนหู ถือว่าเป็นคุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงลูกทั่วไป ไม่ว่าจะแมว หมา หรือ ม้า ล้วนทำได้ทั้งนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วตามสัญชาติญาณสัตว์ หูมักจะกระดิกไปตามทิศทางที่มาของเสียง

บริเวณกล้ามเนื้อที่รับผิดชอบส่วนนี้เรียกว่า ‘Auriculares’ โดยมันจะประกอบไปด้วยกล้ามเนื้ออีก 2 มัดแยกกัน ส่วนหนึ่งบังคับทิศทางขึ้นลง และอีกส่วนบังคับทิศทางซ้ายขวา

 

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การกระดิกหูของมนุษย์นั้นเดิมทีจัดว่าเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตของพวกเรา มาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษโบราณ

ทว่าต่อมากลไกการทำงานส่วนนี้ของร่างกายไม่ได้ถูกใช้งาน อาจเพราะวิวัฒนาการทางสังคม และดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา (พูดง่ายๆ คือไม่ได้เป็นคนป่าเหมือนเมื่อก่อนแล้ว)

พร้อมทั้งเคยมีการรายงานว่า จากจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลก มีเพียง 10% – 20% เท่านั้นที่สามารถกระดิกหูได้โดยธรรมชาติ (แบบไม่ต้องฝึก)

 

 

แต่ใครที่ทำไม่ได้ตั้งแต่เกิดก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะนักวิทย์ฯ เขาบอกว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถสอนกันได้ เหมือนกับการฝึกยักคิ้วข้างเดียวนั่นแหละ

ซึ่งอันที่จริงถ้าใครสามารถยักคิ้วข้างเดียวได้ ก็มีโอกาสที่ฝึกกระดิกหูให้สำเร็จได้ง่ายกว่า เพราะกล้ามเนื้อบนใบหน้าจะมีความแข็งแรงกว่า

แต่หากจะคร่ำเคร่งกับการกระดิกหูมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะมันมีโรคที่ชื่อว่า ‘Dyskinesia’ ซึ่งอาการส่วนหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถหยุดกระดิกหูได้เอง!

 

จะว่าไปมันก็คือความสามารถพิเศษที่ธรรมชาติให้มาจริงๆ ทีนี้เราก็ได้รู้แล้วว่า ‘การกระดิกหู’ มันมาจากไหน…

ที่มา: Livescience

Comments

Leave a Reply