นักวิทย์ฯ อธิบายการทำงานของสมอง ว่าทำไมเราถึงชอบ “ความน่ารัก” ของสัตว์และเด็ก?

หากจะถามว่าทำไมคนเราถึงชอบอะไรที่มันน่ารักๆ ถ้าตอบแบบกวนๆ ก็คือ “ก็เพราะมันน่ารักยังไงล่ะ” เออ ก็มันน่ารักอ่ะ จะเอาอะไรอีก!?

แต่ความจริงแล้วมันมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เรื่องความน่ารัก รวมไปถึงรูปแบบสัตว์ต่างๆ ที่สมองเราจะทำให้รู้สึกว่าน่ารักหรือไม่น่ารักด้วยนะ

 

 

ทำไมเราถึงชอบความน่ารัก?

นักชีววิทยา Konrad Lorenz ได้ทำการศึกษาเรื่อง “kinderschema” (รูปแบบของเด็ก) แล้วพบคุณลักษณะเด่นๆ ของเด็กที่เราจะบอกได้ว่าเด็กคนนั้นน่ารักหรือไม่ เช่น หน้าผากใหญ่ ตาโต หน้ากลม หัวใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของร่างกาย รูปร่างโดยรวมกลมๆ และมีผิวสัมผัสที่นุ่มนิ่ม

รูปแบบที่ว่านี้ยังสามารถใช้กับลูกสุนัขได้ด้วย โดยมนุษย์จะพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่ในสมองแบบอัตโนมัติแม้ว่าเราจะไม่ทันรู้ตัวก็ตามว่าเรากำลังพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าน่ารักหรือเปล่า

 

 

หากมองกันตามจริงแล้ว มนุษย์ถือเป็นสัตว์ที่โตช้ากว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อยู่มาก นั่นก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มนุษย์ที่แก่กว่า (พ่อแม่) เกิดความ “อยากดูแล” หรือ “อยากเลี้ยงดู” นานขึ้นนั่นเอง

สัญชาตญาณในการดูแลของมนุษย์จะควบคุมให้เราต้องดูแลทะนุถนอมสิ่งใดก็ตามที่มีหน้าตาคล้ายกับเด็ก รวมไปถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตแต่มีความ ‘น่ารัก’ ด้วย

 

 

เมื่อมนุษย์ได้เห็นภาพน่ารักๆ สมอง 2 ส่วนของเราจะทำงาน

ส่วนแรก Nucleus Accumbens ในส่วนนี้จะปล่อยสารเคมีที่ชื่อโดปามีนออกมา มันคือสารเคมีที่กระตุ้นให้เราไวต่อความรู้สึกหรือกระฉับกระเฉง

ส่วนที่สอง Orbitofrontal Cortex บริเวณนี้เป็นสมองส่วนที่รับผิดชอบเรื่องการตัดสินใจ มันจะทำงานโดยอัตโนมัติ

 

 

เพื่อให้สัญชาติญาณการปกป้องของเรายังคงอยู่ มนุษย์จึงวิวัฒนาการให้มีความไร้เดียงสานานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงเกิดเป็นคำเรียกว่า Neoteny วิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ที่มีรูปร่างลักษณะบางอย่างเหมือนเด็ก แม้จะอยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (ยกเว้นโคนัน)

 

 

สัตว์ส่วนใหญ่ที่ไม่มี Neoteny จะพึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิดโดยที่ไม่ต้องประคบประหงมอะไรมากมาย เช่นปลาแปลกๆ สัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ ฉะนั้นเราจึงมองว่าพวกมันไม่ใช่สัตว์ที่ “น่ารัก” เท่าไหร่

 

ครั้งหน้าที่คุณเกิดความรู้สึกหม่นหมอง ก็ลองเปิดคลิปน่ารักๆ ดู อย่างเช่นคลิปแก๊งแมวปะทะเด็กน้อย

 

ที่มา fastcodesign , businessinsider , wikipedia

Comments

Leave a Reply