สาระน่ารู้เรื่องวัฒนธรรม “สินสอด” มาจากไหน ใครให้สินสอดบ้าง แล้วถ้าไม่ให้จะได้ไหม?

เศรษฐกิจยุคนี้มันช่างฝืดเคือง ค้าขายก็ไม่ค่อยจะดี แถมความรักก็ดูจะไปไม่รอด เพราะพ่อตาเล่นเรียกค่าสินสอดซะสูงเหลือเกิน แล้วลูกผู้ชายชนชั้นกลางอย่างเราๆ จะไปหาเงินหลายแสนจากไหนมาแต่งงานดีล่ะน้อ…

เรียกได้ว่าวัฒนธรรมการให้สินสอด เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยเรามาอย่างยาวนาน นานซะจนคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า มันมีที่มาจากไหน? หรือทำไปเพื่ออะไร?

ด้วยความสงสัยดังกล่าว เราจึงไปค้นข้อมูลผ่านอากู๋ผู้รู้ใจ และได้พบว่าอันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมสินสอดเนี่ย ไม่ได้มีแค่ในประเทศฝั่งเอเชียอย่างบ้านเราเท่านั้น แต่มันมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมีย นู้นแน่ะ

 

 

นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส Philippe Rospabé ได้ระบุไว้ว่า วัฒนธรรมสินสอดแบบใช้เงินตราเนี่ย เพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมันมาจากรากฐานความคิดเรื่องของความมั่นคงในชีวิตคู่หลังการแต่งงาน และอาจแตกต่างกันไปตามบริบทการเป็นอยู่ของแต่ละสังคม

 

เมโสโปเตเมีย

อ้างอิงจากตำราฮัมมูราบี ได้กล่าวไว้ว่า สินสอดในอดีตของวัฒนธรรมชาวเมโสโปเตเมีย นั้นจะถูกกำหนดโดยญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย โดยมีกฏร่วมกันอยู่ว่า ถ้าหากฝ่ายชายมีชู้จะไม่ได้รับค่าสินสอดคืน ยกเว้นก็แต่ว่าพ่อตาจะไม่เอาเรื่อง

 

วัฒนธรรมชาวยิว

จากคัมภีร์ฮิบรูของชาวยิวได้มีการกำหนดเรื่องสินสอดไว้ตั้งแต่อดีตกาลนานมาแล้ว โดยมีบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

‘ชายใดที่เกี้ยวพานราศีกับหญิงบริสุทธิ์ ต้องจ่ายค่าสินสอดทองหมั้น และแต่งงานกับเธอ แต่ถ้าหากพ่อของฝ่ายหญิงปฏิเสธยกลูกสาวให้ ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าสินสอดเพื่อชดใช้พรหมจรรย์ที่เสียไป’

 

กฏของชาวอิสลาม

สำหรับวัฒนธรรมการแต่งงานของผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้น ได้มีกฏบัญญัติไว้ว่า ฝ่ายชายจะต้องจ่าย ‘มะฮัร’  ซึ่งถือเป็นของขวัญ และสินน้ำใจที่ฝ่ายชายมอบให้ โดยจะแตกต่างจากสินสอด ตรงที่ไม่มีการกำหนดราคาค่าตัวอย่างชี้ชัด แต่จะขึ้นอยู่กับความสบายใจของทั้งสองฝ่าย และ ‘มะฮัร’ จะเป็นสมบัติส่วนตัวของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว

 

 

ปัจจุบันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมการมอบสินสอด ได้ถูกสอดแทรกให้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำตามประเพณีดั้งเดิม แล้วที่ประเทศอื่นเขาจะมีการมอบสินสอดแบบไทยเราไหมน้า….

 

แอฟริกา

ในประเทศแถบแอฟริกาก็มีวัฒนธรรมสินสอดเหมือนกัน โดยฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงต้องมอบปศุสัตว์ให้กับครอบครัวฝ่ายหญิง เช่น แพะ แกะ โคนม หรือควาย เป็นต้น ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็จะแตกต่างกันไปตามประเพณีพื้นเมืองของพื้นที่นั้นๆ

 

จีน

ถือเป็นอีกประเทศที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ การแต่งงานตามแบบฉบับของชาวจีนในปัจจุบันนั้น พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะพบปะพูดคุยกันก่อน เพื่อทำข้อตกลงเรื่องสินสอดร่วมกัน

และจากปัญหาที่จีนมีประชากรผู้ชายมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า ทำให้ปัจจุบันค่าสินสอดพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า และเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคู่รักชาวจีนรุ่นใหม่หลายคู่ด้วยเช่นกัน

 

ชาวเกาะโซโลมอน

ประเพณีการแต่งงานของชาวเกาะที่นี่ค่อนข้างจะแตกต่างจากที่อื่นพอสมควร ที่นี่เขาไม่ได้มอบสินสอดเป็นเงินตรา หรือทรัพย์สินมีค่าเหมือนที่อื่น แต่จะมีการมอบสร้อยคอที่เรียกว่า ‘tafuliae’ สร้อยคอทำจากกาบหอย ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมสินสอด ตั้งแต่ยุคอดีต จนมาถึงปัจจุบันแบบคร่าวๆ ถ้ามองด้วยกรอบ ‘ทฤษฏีการคัดสรรทางธรรมชาติ’ ของชาร์ลส์ ดาร์วิน อาจกล่าวได้ว่า สินสอดทองหมั้นก็คือเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งในการเอาตัวรอดของมนุษย์ยุคใหม่ (แค่เปลี่ยนจากการล่าอาหารแบบในอดีต มาเป็นเงินตราแทน)

ส่วนคำถามที่ว่าเราไม่ให้ค่าสินสอดได้ไหม? ก็ดูจะเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว บางคนอาจจะมองว่าความรักเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่าเงินทอง ในขณะที่บางคนอาจจะมองเรื่องของความรัก แยกจากเรื่องของปากท้อง และเศรษฐกิจในกระเป๋าตังค์ ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่าปัจจุบันเงินตราสำคัญมากขนาดไหน

เรียบเรียง: Catdumb

Comments

Leave a Reply