โรคที่มนุษย์เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ หลายโรคก็แปลกซะจนไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง แต่มันก็มีความสำคัญต่อมนุษย์ในการศึกษา อย่างเช่นโรคที่ นักแสดง แดเนียล แรดคลิฟฟ์ หรือพ่อมดน้อย “แฮร์รี่ พล๊อตเตอร์ เป็นอยู่ตอนนี้
โรคที่ว่านี้คือ Dyspraxia ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง รวมทั้งระดับสติปัญญาด้วยจนทำให้การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก
Dyspraxia เป็นความผิดปกติของระบบประสาท ในการประสานงานการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งหากอยู่ในขั้นร้ายแรงอาจมีผลต่อความสามารถในการพูดด้วย ที่สำคัญสามารถพบได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ทางรักษาให้หายขาดได้
ส่วนอาการของโรคนั้นจะปรากฏให้เห็นได้ในหลายรูปแบบ และมีการเปลี่ยนได้ตามช่วงเวลา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ประสบการณ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม
Gill Dixon ผู้ดูแลมูลนิธิ Dyspraxia ได้กล่าวว่าโรค Dyspraxia อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย (ในกรณีที่ร่างกายมีการประสานงานที่ไม่ดีจะมีปัญหาในเรื่องการเขียน)
นอกจากนี้ยังมีปัญหากับการใช้คำพูดและภาษา(จะมีปัญหากับการประมวลระดับเสียงการฟัง และทักษะด้านความเข้าใจ) ส่งผลต่อความคิด (จะมีปัญหาในเรื่องการจัดเรียงหรือเรื่องความเป็นระเบียบ) การรับรู้และวิสัยทัศน์
หากโรคนี้พบในวัยเด็ก จะทำให้เด็กมีปัญหาในชีวิตประจำวันคือเรื่อง การดูแลตัวเอง การเขียน การพิมพ์ การขี่จักรยาน และการเล่น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่วัยผู้ใหญ่ในการทำงานต่างๆ เช่น การทำอะไรด้วยตัวเองและแม้แต่การขับขี่รถยนต์ก็จะเป็นเรื่องยากไปด้วย
Elliott Cramer หนึ่งในผู้ที่เป็นโรคนี้บอกว่า “เวลาอยู่โรงเรียนฉันมักจะลืมทำสิ่งต่างๆ เช่น การทำการบ้าน คะแนนที่ได้จึงออกมาไม่ค่อยดีนัก ฉันไม่สามารถทำอะไรได้นานๆ ทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าคนอื่นและยังเข้ากับคนอื่นได้ยาก”
นอกจากนี้ โรค Dyspraxia ได้ส่งผลต่อ Elliott ในวัยทำงานด้วยคือ เธอมักจะไปทำงานสาย ลืมทำหน้าที่บางอย่าง จนมีปัญหาในการทำงานหลายต่อหลายครั้ง
สาเหตุของโรค Dyspraxia
ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่แท้จริงของโรค Dyspraxia ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันน่าจะเกิดจากการหยุดชะงักของข้อความที่ส่งผ่านสมองมายังร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหากับการเคลื่อนไหวของร่างกาย คือคิดว่าจะทำ แต่กลับทำไม่ได้ เพราะร่างกายไม่ตอบสนอง
การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบกับโรคนี้
ในฐานะที่เป็นโรคนี้ Elliott แนะนำว่า ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยิ่งเราเข้าใจโรคนี้มากเท่าไรเรายิ่งจะช่วยพวกเขาได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะเด็กๆ ในโรงเรียน
เพราะแม้ว่าผู้ป่วยจะพยายามทำการบ้านหรือทำงานสุดความสามารถแค่ไหน บางทีมันก็ยังมีความบกพร่องอยู่ดีจนทำให้คนอื่นมองว่าเป็นการไม่ใส่ใจหรือไม่ตั้งใจที่จะทำ ดังนั้นหากคนรอบข้างเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ดี พวกเขาจะรู้วิธีตอบสนองที่ถูกต้อง
สิ่งที่ครูจะช่วยเด็กได้
ในฐานะที่เป็นครู คุณจำเป็นต้องเรียนรู้โรคนี้ เพราะจะเป็นการช่วยพวกเขาได้ดีมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตเมื่อพวกเขาโตขึ้นด้วย
โดยปกติแล้วเด็กที่เป็นโรคนี้ มักจะเรียนไม่ทันเด็กคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามคุณครูจึงควรจะปล่อยให้พวกเขามาเรียนต่อไป เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ หรืออาจจะมีการไปหาผู้ปกครองที่บ้านบ้างบางครั้งเพื่อบอกถึงปัญหาของเด็ก จะได้นำไปสู่การแก้ไขต่อไป
ให้เด็กจัดตารางเรียนล่วงหน้าก่อนนอน และควรจะติดตารางเวลาต่างๆ ตามผนังห้องเพื่อให้เด็กได้จดจำและฝึกทำด้วยตัวเอง
เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ อย่างเอาเด็กที่เป็นโรค Dyspraxia ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น นั่นจะเป็นการสร้างปมด้อยให้กับเด็กและทำให้รู้สึกแปลกแยกจนไม่กล้าที่จะเรียนรู้ต่อไป
ชื่นชมทุกความพยายามของเขา แม้จะเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม พวกเขาอาจจะผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่การชื่นชมจะทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นและอยากทำมันต่อไป
อย่าลืมว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาด้านการรับข้อมูล ดังนั้นจะต้องให้เวลากับพวกเขามากเป็นพิเศษ ให้พวกเขาได้พักผ่อนบ้าง และปล่อยให้พวกเขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
ในระหว่างที่ทำการสอนนั้น ต้องคอยตรวจเช็คเสมอว่าเด็กตามทันมั้ย หรือเด็กมีปัญหาตรงไหน อย่ามองข้ามปัญหาของพวกเขา แต่ให้เข้าไปช่วยแก้ไขเพื่อไปสู่ขั้นต่อไปดีกว่า
และแม้ว่าเด็กจะเป็นโรค Dyspraxia จนตามเพื่อนๆ ไม่ทัน อย่าเอาพวกเขาออกจากการเรียน หรืออย่าแยกพวกเขาออกจากเพื่อนๆ แต่ให้เขาเรียนพร้อมๆ ไปกับคนอื่น
การรักษา
สำหรับโรคนี้ไม่มีการรักษาให้หายขาด มีแต่เพียงการบรรเทาเท่านั้น นักบำบัดโรค Dyspraxia แนะนำอุปกรณ์ที่จะทำให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการพูดและการใช้ภาษา
นั่นคือการไปเล่นอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงยิมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้การทำกิจวัตรประจำวันสะดวกขึ้น เช่น การบีบยาสีฟัน ใช้เครื่องโกนหนวด การเปิดกระป๋อง และกิจกรรมอื่นๆ
ปัจจุบันมีนักวิจัยจากหลายหน่วยงานที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่คนรอบข้างเองก็สามมารถช่วยพวกเขาได้โดยการเรียนรู้และเข้ากับสิ่งที่พวกเขาเป็น ส่วนไหนที่ช่วยได้ก็ช่วยเพื่อช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตง่ายขึ้น
มีเพื่อนๆ คนไหนเป็นโรคนี้มั้ยค่ะ แชร์มาเล่าให้เราฟังสิ
ที่มา metro
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.