ชวนดูวิธีการหาคู่สุดคูลของ “ปลากระเบนปีศาจ” ใช้พุงกระแทกน้ำ โบยบินให้อีกฝ่ายสนใจ!?

#เหมียวฟิ้นเองเป็นคนที่ชอบดูสารคดีมาก และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ไปเจอเข้ากับสารคดีเกี่ยวกับปลากระเบนคลิปหนึ่งจาก BBC ที่เผยให้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของพวกมันอย่างการทะยานขึ้นไปบนอากาศ!?

 

 

มันคืออะไร?

ตามข้อมูลต่างๆ บอกว่าปลากระเบนตัวนี้มีชื่อว่า “ปลากระเบนปีศาจ” หรือ “ปลากระเบนบิน” มักอาศัยรวมกันเป็นฝูงร้อยกว่าตัว พวกมันมีรูปร่างที่แบนราบและมีครีบคล้ายๆ ปีก ทำให้ง่ายต่อการว่ายน้ำและเหินขึ้นสู่ผิวน้ำ

เมื่อนำพวกมันมาวัดความยาวของปีกจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง จะอยู่ที่ราวๆ 5.2 เมตร (ลองจินตนาการว่ากว้างขนาดคน 3 คนนอนเรียงกันสิ) ความยาวขนาดนี้จึงทำให้พวกมันทะยานขึ้นเหนือน้ำได้สูงราวๆ 2 เมตรเลยทีเดียว

 

 

พฤติกรรมเหินฟ้า

ข้อมูลจากสารคดีของ BBC กล่าวว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้ามเพื่อหาคู่ ไม่ว่าจะเพศผู้หรือเพศเมีย

ในขณะที่บางข้อมูลบอกว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นการต้อนปลาตัวเล็กๆ ให้เข้ามาอยู่ในใกล้ๆ ฝูงของพวกมัน เพื่อง่ายต่อการจับกินเป็นอาหารนั่นเอง

 

 

ด้านนาย Joshua Stewart จากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำ Scripps Institution of Oceanography ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าหากคุณนั่งเรือออกไปแล้วเจอกับกลุ่มปลากระเบนเหล่านี้ จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับอยู่ท่ามกลางหม้อป็อปคอร์นขนาดใหญ่เลยทีเดียว

 

ตัวอย่างของฝูงกระเบนปิศาจ

 

นอกจากนี้เขายังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่าเวลาที่พวกมันพุ่งขึ้นมาจากในน้ำ พวกมันจะว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงสุด และบางครั้งเร็วเกินไปจนเสียการควบคุม ทำให้มีการม้วนหน้าม้วนหลังอย่างที่เห็น

แต่เขาไม่ได้สรุปว่าการกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำนั้นเป็นการเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้ามหรือเปล่า ซึ่งเขามองว่ามันอาจเป็นเพียงการสื่อสารรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ที่น่าจะเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ

 

 

ใครอยากเห็นภาพความเคลื่อนไหวของพวกมันชัด งั้นดูได้ที่นี่เลย

 

สรุป…

การที่ปลากระเบนปีศาจหรือปลากระเบนบินเหล่านี้พยายามกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ ก็ยังคงเป็นปริศนาและไม่มีการฟันธงว่าพวกมันทำเพื่อหาอาหาร เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม หรือเพื่อสื่อสารกันแน่!?

โดยส่วนตัว #เหมียวฟิ้น มองว่าอาจจะเป็นหนึ่งในพฤติกรรมแปลกๆ เหมือนกับเวลาที่พวกหมาจะนอนต้องเดินวน 3 รอบหรือ พฤติกรรมประหลาดๆ ที่พวกแมวชอบทำก็ได้นะ

 

 

ที่มา BBC , padi , wikipedia

Comments

Leave a Reply