Homeschooling การเรียนที่บ้าน อีกหนึ่งทางเลือกของการศึกษา เหมาะกับเด็กศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันการเรียนมีหลากหลายช่องทาง ทั้งเรียนเองที่บ้าน ไปเรียนตามระบบการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ดีว่าระบบแบบไหนจะดีกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะตัดสินใจให้บุตรหลานได้รับการศึกษาแบบไหน

แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเกี่ยวกับระบบการศึกษาครั้งล่าสุดพบว่า การเรียนที่บ้านหรือ Homeschool เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 และมีแนวโน้มว่าเด็กจะเรียนที่บ้านมากขึ้นด้วย

 

 

Alison Davis จากเมือง Williamstown รัฐ New Jersey เป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่ตัดสินใจให้ลูกเรียนที่บ้านเพราะเธอคิดว่า การเรียนที่บ้านจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริงได้ง่ายกว่า

ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกา การเรียนที่บ้านได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดที่จัดทำโดยศูนย์เก็บสถิติทางการศึกษาของสหรัฐฯ พบว่า การศึกษาที่บ้านมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง  61.8% ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเด็กจำนวนกว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 4% ของประชากรวัยเยาว์

 

ในขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนมองว่า การให้เด็กเรียนที่บ้านนั้นเป็นการตัดขาดจากสังคมภายนอก เด็กจะไม่มีเพื่อน และจะกลายเป็นคนต่อต้านสังคมในที่สุด

แต่ทว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวอาจจะไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่นัก เพราะที่ผ่านมาเด็กที่เรียนที่บ้านมักจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากการเรียนที่บ้านนั้นจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตจริง การสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบตั้งแต่เยาว์วัย สามารถปรับการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาซึ่งเหมาะกับเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน

 

 

Creative Schools: The Grassroots Revolution That’s Transforming Education หนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2015 ก็ได้พูดถึงการเรียนที่บ้านว่า เด็กแต่ละคนนั้นมีความสามารถและบุคลิกที่แตกต่างกัน ดังนั้นพวกเขาควรจะเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการและมีความถนัด

นอกจากนี้การสอนตัวต่อตัวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ยกระดับความสำเร็จให้เด็กมากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีระบบการศึกษาใดที่ออกแบบมาเพื่อสอนนักเรียนอย่างตัวต่อตัว

ในส่วนของระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้น คุณครูมักจะออกแบบแผนการเรียนรู้ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือว่ากันง่ายๆ ก็คือตามหลักสูตรของกระทรวง

แต่พวกเขาลืมคำนึงถึงความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก อันเป็นช่องโหว่ของระบบโรงเรียน บางคนเรียนรู้เร็ว ในขณะที่บางคนเรียนรู้ช้าจนตามเพื่อนไม่ทัน แต่พวกเขากลับต้องเรียนภายใต้แผนการสอนเดียวกันและจบในเวลาพร้อมกัน

ในขณะที่การเรียนที่บ้านนั้นเป็นการเน้นสอนตัวต่อตัวโดยตรง เป็นการออกแบบการสอนเพื่อปัจเจกบุคคลเท่านั้น ดังนั้นหลักสูตรจึงอยู่ภายใต้ความต้องการและเหมาะสมกับความสามารถของเด็ก หากไม่เข้าใจก็สามารถย้อนกลับมาเรียนใหม่ได้ทันที

 

 

Davis บอกว่า ลูกของเธอนั้นเริ่มเรียนด้วยการอ่าน เพราะเธอสามารถสอนลูกอ่านหนังสือได้ทุกเมื่อ คำไหนที่อ่านไม่ได้ก็ย้อนกลับมาอ่านใหม่ ทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านการอ่านที่ค่อนข้างดี

แต่ถ้าเทียบกับโรงเรียนแล้ว ครู 1 คนต้องดูแลนักเรียนถึง 20 คน อาจทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง จนเด็กบางคนมีความบกพร่องทางการอ่านไปโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ส่วนผลระยะยาวของการเรียนที่บ้านนั้น จากผลสำรวจในปี 2009 พบว่า เด็กที่เรียนที่บ้านมีแนวโน้มสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น โดยมีผลการเรียนอยู่ในระดับดี และยังช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัวได้เป็นจำนวนมาก

 

 

ในเรื่องของการเข้าสังคมนั้น เด็กที่เรียนที่บ้านไม่ได้แตกต่างจากเด็กที่เรียนในโรงเรียนเลย พวกเขาเล่นบอลและทำอะไรเป็นทีมได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ

อย่างครอบครัวของ Davis ที่อยู่ใกล้กับโบสถ์ ดังนั้นลูกจึงมีเพื่อนจากการไปโบสถ์และยังได้เป็นนักร้องประสานเสียงร่วมกับเพื่อนๆ ในวันอาทิตย์อีกด้วย

นอกจากนี้ในโบสถ์ยังมีการสอนเล่นดนตรี จนเด็กมีวงดนตรีเล็กๆ เป็นของตัวเอง พวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะยังคงมีเพื่อนๆ อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นทั้งละแวกที่อยู่อาศัยหรือจุดศูนย์รวมของชุมชน

นอกจากเพื่อนข้างบ้านแล้ว การเรียนที่บ้านนั้น ผู้ปกครองมักจะจัดตารางให้ลูกได้ไปทำกิจกรรมสันทนาการนอกบ้านเพื่อนไปพบปะกับเพื่อนๆ เป็นการเรียนรู้สังคมภายนอกไปในตัว

 

 

และยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเช่นนี้ ทำให้เด็กๆ มีสังคมที่กว้างมากกว่าเดิมด้วย โดยจากการสำรวจขององค์กร Pewinternet เมื่อปีที่แล้วพบว่า วัยรุ่น 55% ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์เป็นประจำ

และอีก 45% บอกว่า หากพวกเขามีความชอบเหมือนกันก็จะนัดเจอกัน ทำงานอริเรกด้วยกัน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ผลสำรวจเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า การเรียนในโรงเรียนไม่ใช่หนทางเดียวที่จะทำให้เด็กมีเพื่อนได้ แต่ยังมีช่องทางอื่นๆ อีกมากมายในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เนื่องจากมีความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร

 

 

อย่างไรก็ตาม การเรียนที่บ้านนั้นผู้ปกครองจะต้องมีความพร้อมสำหรับเด็ก ทั้งอุปกรณ์การสอนและเวลาที่จะให้กับลูกๆ ที่สำคัญต้องมีการวางแผนหลักสูตรการสอนที่เสริมสร้างพัฒนาการของลูกด้วย

 

แล้วเพื่อนๆ ละคะมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง?

ที่มา businessinsider

Comments

Leave a Reply