“หาวววว ง่วงจังเลยยย” อาการแบบนี้มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงบ่ายหลังจากที่เติมพลังด้วยข้าวเที่ยงกันมาอย่างเต็มที่ และบางทีการหาวเนี่ยก็เหมือนกับโรคติดต่อเลยนะ ไม่เชื่อลองมีคนมาหาวใกล้ๆ คุณสิ อีกซักพักคุณจะรู้สึกอยากจะหาวขึ้นมาทันทีเลยละ
การหาวคือกลไกอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่มีขั้นตอนการเกิดที่ซับซ้อน ถ้าหากจะให้เล่าก็คงจะต้องยาวเป็นหลายหน้าแน่นอน
แต่พักเรื่องการทำงานของร่างกายไว้ก่อนดีกว่า เพราะวันนี้มีอะไรที่น่าสนใจกว่ามาฝากกัน เพื่อนๆ รู้ไหมว่ายิ่งเราหาวนานขึ้นเราก็ยิ่งฉลาดขึ้นด้วยนะ!!
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการหาวที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง โดยงานวิจัยพบว่าการหาวที่ยาว แสดงถึงจำนวนของเซลล์สมองที่มากตามไปด้วย นั่นหมายถึงว่าสัตว์ที่หาวได้ยาวก็จะมีขนาดของสมองที่ใหญ่ตามไปด้วย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร Biology Letters เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
นักวิจัยได้ทำการศึกษาโดยดูคลิปวีดีโอของสัตว์ต่างๆ อย่างมนุษย์ สุนัข แมว ลิงชิมแปนซี และ ลิงกอริลล่า เพื่อทำการเปรียบเทียบความยาวในการหาวของพวกมัน พวกเขาศึกษาการหาวอย่างเต็มรูปแบบกว่า 205 ครั้งของสิ่งมีชีวิต 177 ชนิดจาก 24 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
ผลวิจัยพบว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีระยะเวลาการหาวเฉลี่ยที่ยาวที่สุดคือ 7 วินาทีและน้ำหนักของสมองมากที่สุด เฉลี่ยประมาณ 1.3 กิโลกรัม
และรองลงมาคือ ช้างแอฟริกา 6 วินาที ส่วนลิงชิมแปนซี กับอูฐ อยู่ที่ 5 วินาที และระยะเวลาเฉลี่ยในการหาวสั้นที่สุดได้แก่ หนูและกระต่าย
คุณ Andrew Gallup นักจิตวิทยาผู้เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้เขียนข้อมูลเกี่ยวกับการหาวและสมองของมนุษย์ ลงในเว็บไซต์ Academicminute ว่า “ขนาดของร่างกายทั้งขากรรไกรและกระโหลกศรีษะ ไม่มีผลต่อความยาวของการหาว
สัตว์อย่างพวกลิงกอริลล่า อูฐ ม้า หรือแม้แต่ช้างแอฟริกาล้วนมีขนาดของขากรรไกรและกะโหลกที่ใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งนั้น แต่ว่าความยาวในการหาวของพวกมันกลับสั้นกว่า ระยะเวลาของการหาวแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของขนาดและความซับซ้อนของสมอง ซึ่งจะเป็นตัวบอกปริมาณของเซลล์ประสาทในสมอง”
กราฟเปรียบเทียบความยาวการหาวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ขวา) และสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ซ้าย)
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.