ในแต่ละประเทศทั่วโลก ก็ย่อมมีเทศกาล หรือประเพณีที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับที่เมือง Sweetwater (แหม่ เชื่อเมืองนี่น้ำหวานเชียว) รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นประจำทุกปีที่นี่จะถูกจัดงาน ‘เทศกาลฆ่างูหางกระดิ่ง’ ถึงแม้จะดูโหดร้ายอยู่บ้าง ทว่าเทศกาลฆ่างูนี้ก็มีเหตุผล และที่มาที่ไปของมันอยู่เหมือนกัน
และไม่ใช่แค่ฆ่าเอาสนุกอย่างเดียว…
ต้องเล่าก่อนว่าเดิมทีในหลายๆ รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาถูกงูหางกระดิ่งเข้ามารุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย (น่าจะสลับกันมั้ง?)
จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมการล่างูหางกระดิ่งขึ้น ในบางพื้นที่ชาวเมืองใช้วิธีหยอดน้ำมันลงไปในหลุมของพวกมัน ทำให้หายใจไม่ออก และตายยกรังในที่สุด
ที่เมือง Sweetwater ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ๆ มีจำนวนประชากรงูหางกระดิ่งชุกชุมมากเป็นอันดับต้นๆ โดยผู้จัดงานได้ให้เหตุผลว่าเทศกาลดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนประชากรงูหางกระดิ่งที่มากเกินไป ให้อยู่ในระดับที่พอดีต่อห่วงโซ่อาหารทางธรรมชาติได้
ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ก่อนถึงเทศกาล ชาวบ้านมักจะรวมกลุ่มจับทีมกันออกล่างูหางกระดิ่งนับพัน เพื่อนำมาแสดงในงานเทศกาล และงูหางกระดิ่งทั้งหมดจะถูกปลิดชีพทั้งเป็นต่อหน้าฝูงชนที่มาร่วมงาน
นอกจากนั้นยังมีเงินรางวัลให้กับทีมที่สามารถล่างูหางกระดิ่ง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หรือทีมที่ล่าได้จำนวนมากที่สุด ด้วยเช่นกัน
แต่มันก็ไม่ได้มีแต่การมาฆ่าอย่างเดียวนะ ช่วงหลังนี้งานถูกทำให้เป็นวิชาการมากขึ้น มีการจัดแสดงให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้เข้าร่วม รวมถึงให้ความรู้ไปพร้อมๆกัน
ภายในงานจะมีทั้งการสาธิตวิธีการรับมือกับงูหางกระดิ่ง รวมถึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์จากเซรุ่มของงู และการแสดงสินค้า หรืออาหารที่แปรรูปมาจากงูด้วยเหมือนกัน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อกังขาจากองคฺ์กรอนุรักษ์งู (ASP) มาโต้แย้งว่าเทศกาลทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นไปเพื่อตอบสนองเม็ดเงินของผู้จัดงานซะมากกว่าการควบคุมประชากรของพวกมัน
Melissa Amarello หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กร เล่าว่า ‘จริงๆ แล้วงูหางกระดิ่งมันไม่ใช่สัตว์ที่ดุร้ายอะไรเลย เสียงขู่ของมันหมายถึงความกลัว พวกมันกลัวการบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย อีกทั้งมันยังมีลักษณะอยู่กันเป็นครอบครัวเหมือนมนุษย์เรา
และว่ากันตามตรง ไม่มีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่ไหนเคยออกมาอ้างอิงถึงจำนวนประชากรของงูหางกระดิ่งที่มากเกินไป ตามที่เทศกาลดังกล่าวอ้างถึง’
ด้วยความที่ Amarello ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมพวกมันมานาน ครั้งหนึ่งเธอเคยไปร่วมงาน และเธอก็พบว่าทั้งเทศกาลตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นที่ชาวบ้านเรียกกันว่ากลิ่นสาบงู
ซึ่งเธอเล่าว่าอันที่จริงแล้ว มันเป็นกลิ่นเตือนภัยจากงูกลุ่มหนึ่ง ไปยังงูตัวอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป ว่ากำลังเกิดอันตรายและพวกมันต่างก็ล้วนรู้สึกกลัวเป็นที่สุด
ถ้างูทั้งหมดนี้ยังไม่ตาย คงกลายเป็นหนังคนละม้วน
ทางด้านของกลุ่มอนุรักษ์งู ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เทศกาลทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อความสะใจของมนุษย์ซะมากกว่า เพราะงูหายกระดิ่งนับหมื่นตัวถูกฆ่าด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป และดูเหมือนทุกคนจะสนุกสนานกับการฆ่าเอามากๆ
ภายในงานมีการให้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับพิษของงู
ถึงแม้จะมีองค์กรออกมาต่อต้าน แต่เทศกาลดังกล่าวก็ถูกจัดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว ก็คงเป็นไปได้ยากที่มันจะถูกสั่งห้าม
ถกเถียงกันไปก็ยังไม่จบ และเทศกาลนี้ก็จะยังจัดต่อไป… แต่ถ้าคนกลัวงู คงจะได้เป็นลมตั้งแต่หน้างานรึเปล่านะแบบนี้
ที่มา: TheDodo
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.