Phil Knight เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทรองเท้ากีฬาชื่อก้องโลกอย่าง Nike ทุกคนคงจะจดจำภาพลักษณ์ของบริษัทนี้ไปแล้วว่าเป็นแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ มีรองเท้าเป็นพันเป็นหมื่นรุ่น มีร้านค้าสาขาไปทั่วโลก และเป็นที่ต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม
แต่ใครจะรู้ว่ากว่าที่ Nike จะดำเนินกิจการมาได้จนถึงทุกวันนี้ Phil Knight ต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง และใช้หลักการใดในการดำเนินธุรกิจ?
วันนี้เขาได้เปิดเผยออกมาให้เราได้รับรู้แล้วและมันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณในอนาคตก็ได้นะ
1. ใช้เวลาในช่วงวัยรุ่น (20-29) ในการเรียนรู้และสำรวจให้มากที่สุด
หลังจากที่เรียนจบในระดับมัธยมศึกษาและเข้ารับการฝึกกับกองทัพเรือ ในตอนนั้น Phil Knight วัย 24 ปี ได้ตัดสินใจที่จะออกไปท่องโลกกว้างด้วยการไปเที่ยวตามประเทศต่างๆ
แต่เนื่องจากในสมัยก่อนการไปเที่ยวยังเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และใช้เงินมาก เขาก็เลยขอเงินพ่อแม่เพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม เคนย่า อังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ ศึกษาวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในแต่ละที่ และนำมาเป็นองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต
2. เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด
นาย Phil Knight เล่าว่างานแรกที่เขาได้ทำคืองานขายหนังสือสารานุกรมในรัฐฮาวาย งานต่อมาคือการขายหลักทรัพย์ แต่ดูเหมือนมันอาจจะไม่เหมาะกับเขาเพราะว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวเลยอาจจะไม่เหมาะกับงานขายเท่าไหร่
แต่เมื่อเขาได้ลองเป็นพนักงานขายรองเท้าเข้าจริงๆ เขากลับขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ และเขาก็ได้กลายเป็นปรมาจารย์ด้านการขายตั้งแต่นั้นมา ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะสมัยเรียนที่มหาลัยเขาเป็นนักกีฬาวิ่งมาก่อน เขาชอบวิ่งและวิ่งได้ดีด้วย นั่นจึงทำให้เขาเชื่อในสิ่งที่ตัวเองขาย และกลายเป็นพนักงานขายรองเท้าที่เก่งกาจ
3. Just do it (แค่ทำมัน)
ตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น ไอเดียการเป็นบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ๋ที่จะนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมาขายตอนนั้นมัน “บ้า” และดูท่าจะเป็นไปไม่ได้ เขาไม่มีเงิน ไม่มีบริษัท ไม่มีความสำเร็จมาก่อน เขาเป็นเพียงแค่เซลล์แมน
เขาเดินทางไปเมืองโกเบ เพื่อติดต่อกับตัวแทนจาก Onitsuka บอกพวกเขาว่าตัวเองเป็นตัวแทนของบริษัท (ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีบริษัทด้วยซ้ำ) หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็บอกคู่ค้าอีกครั้งว่ามีออฟฟิศทางตะวันออกของอเมริกา ทั้งๆ ที่ยังไม่มี แถมยังสั่งรองเท้าแบบไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายด้วย
ถึงจะฟังดูตอแหล แต่สุดท้ายเขาก็ทำมันได้ตามคำที่บอกกับคู่ค้า เขาเจรจาจบก็สร้างบริษัทมารองรับ เขาสร้างออฟฟิศในทางตะวันออกของประเทศ แถมยังสามารถหาเงินหมุนมาจ่ายค่ารองเท้าที่สั่งตามที่ตกลงเอาไว้ได้อีก!!
4. หามิตรที่ไว้ใจได้ ทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว
ในช่วงก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ Phil Knight ได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานที่ไว้ใจได้ ที่มีทั้งอดีตนักกีฬาที่เคยเล่นด้วยกันที่มหาวิทยาลัย อดีตโค้ช และยังมีนักบัญชีและนักกฎหมายที่เชื่อถือได้อีก 2-3 คนมาร่วมทีมด้วย
ในระหว่างทำธุรกิจเคยเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทต้องใช้เงินด่วนแต่พวกเขามีเงินไม่เพียงพอ พ่อแม่ของหนึ่งในลูกจ้างของเขาจึงนำเงินเก็บก้อนสุดท้ายของครอบครัวมาให้บริษัทยืมก่อนด้วยเหตุผลที่ว่า “หากไม่ไว้ใจบริษัทที่ลูกของคุณทำงาน แล้วจะไปไว้ใจใครได้อีกล่ะ” นั่นจึงทำให้เขารู้ซึ้งถึงคุณค่าของมิตรแท้
5. อย่าบ้าบิ่นให้มาก แต่ถ้าต้องทุ่มสุดตัวคุณก็ควรลองมันสักครั้ง
สมัยก่อน Phil Knight เคยทำงานประจำเป็นนักบัญชีและผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่หลายปี จนกระทั่งเขาตัดสินใจลาออกจากงานเพื่ออุทิศเวลาและชีวิตให้กับบริษัทของตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน
เขาเองก็ยังคงต้องการรายได้ที่มั่นคงเพื่อนำมาใช้จ่ายอยู่ การลาออกจากงานประจำแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แต่เมื่อเขาตัดสินใจแล้วเขาก็ต้องทำมันให้ถึงที่สุด แถมยังเอาบ้านไปจำนองเพื่อเอาเงินมาทำธุรกิจด้วย แต่จนถึงวันนี้มันก็พิสูจน์ทุกอย่างแล้วว่าเขาตัดสินใจถูกต้อง
6. ต้องมั่นใจว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการ และจงพูดมันออกมาให้ชัดเจน
ในช่วงที่ก่อตั้งบริษัท Phil Knight ได้เรียนรู้วิธีการเจรจาทางธุรกิจและการติดต่องานกับคนอื่นๆ ทำให้เขารู้ว่าหากเขาต้องการอะไร หรืออยากให้งานออกมาเป็นแบบไหน การพูดออกมาคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเราต้องการอะไร
7. ต้องมีแผนสำรองเสมอ
นี่อาจเป็นหนึ่งในบทเรียนอันล้ำค่าของเขาเลย เพราะเมื่อตอนแรกที่ก่อตั้งบริษัทเขาใช้ชื่อว่า Blue Ribbon เพื่อนำเข้ารองเท้าจากแบรนด์ Onitsuka มาชายในอเมริกา
เหตุการณ์ดำเนินไปปกติ จนกระทั่งวันหนึ่ง Onitsuka ก็ยกเลิกสัญญากับบริษัทกับ นั่นทำให้เขาตระหนักได้ว่าตัวเองควรจะมีแผนสำรอง
Phil Knight เริ่มคิดค้นรองเท้าเป็นของตัวเองแล้วตั้งชื่อให้มันว่า Nike ในตอนแรกเริ่มมันเป็นรองเท้าที่ค่อนข้างมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพอยู่บ้าง แต่ก็มีการปรับแก้มาอยู่เรื่อยๆ และทำให้บริษัทของเขาก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่แบบทุกวันนี้
8. มอบความหวังให้แก่เพื่อนร่วมงานและสร้างความเชื่อมั่น
ในช่วงที่แบรนด์ Onitsuka ยกเลิกสัญญากับเขา ทำให้พนักงานภายในบริษัทรู้สึกหดหู่และหมดกำลังใจอย่างมาก นาย Phil Knight จึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน พยายามมองโลกในแง่ดี และทำให้พนักงานเชื่อมั่นว่าจะพาพวกเขาผ่านพ้นไปได้
Phil บอกพวกเขาว่าที่บริษัทประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะ Onitsuka แต่เป็นเพราะการร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ คนในบริษัทต่างหาก
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดและเรื่องราวบางส่วนจากผู้ก่อตั้งบริษัทรองเท้ายักษ์ใหญ่ ที่คุณหรือคนรอบๆ ตัวอาจจะสวมมันอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าประสบการณ์ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่หากลองเอามาปรับใช้ ไม่แน่นะว่าประเทศไทยของเราก็อาจจะมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นอีกคนก็ได้
ที่มา: businessinsider
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.