เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยคุณกำจัดปัญหา “Jetlag” ให้หมดไปอย่างปลิดทิ้ง

คนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ คงจะมีปัญหาเกี่ยวกับเจ็ทแล็ค ที่ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนส่งผลให้การทำงานของร่างกายผิดเพี้ยนไปหมด

จริงๆ ปัญหาเจ็ทแล็คนั้นอาจจะไม่สามารถแก้ได้แบบปลิดทิ้ง แต่วันนี้ #เหมียวขี้ส่อง จะมาแนะนำวิธีรับมือกับอาการดังกล่าว เผื่อจะเป็นช่องทางในการช่วยผู้ที่เจอปัญหานี้ได้บ้างนะคะ

 

ก่อนอื่นเรามาทำเข้าใจกับเจ็ทแล็คก่อนว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร?

 

เจ็ทแล็ค เป็นผลมาจากนาฬิกาภายในร่างกายของเราถูกรบกวนจนทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากนาฬิกาตัวนี้จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ตั้งแต่การใช้ชีวิตช่วงกลางวันและกลางคืน การควบคุมความดันโลหิตและความหิวของเรา

ระบบนาฬิกาในร่างกายจะปรับข้อมูลต่างๆ ให้ตรงกับระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ Master clock ในสมองของเราจะมีความละเอียดอ่อน และสัมพันธ์กับนาฬิกาของร่างกายทั้งหมดภายในอวัยวะและเนื้อเยื่อของเรา

 

ระบบนาฬิกาทั้งหมดเหล่านี้ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่ชื่อว่าเมลาโทนิน ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาโดย Master clock ทำให้เราง่วงในเวลากลางคืนและควบคุมอุณหภูมิในร่างกายเวลาที่เรานอนหลับ

เมื่อเราต้องเดินทางไปยังไทม์โซนอื่น ก็จะทำให้ระบบนาฬิกาทั้งหมดในร่างกายของเราเกิดอาการรวนขึ้นมา จึงทำให้เรารู้สึกแย่

 

แล้วเราจะแก้ปัญหาเจ็ทแล็คได้อย่างไร? ต้องบอกก่อนเลยว่ามันไม่มีวิธีแก้ไข้ได้ทันทีเหมือนกับการที่เราขับรถลงเขาแล้วเกิดอาการหูอื้อ พอเรากลืนน้ำลายปุ๊บก็จะหายเลย

 

ทางด้านนักวิทยาศาสตร์ Charmane Eastman จากมหาวิทยาลัย Rush University ในเมืองชิคาโก แนะนำว่า ก่อนที่เราจะเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีระบบเวลาต่างกันมากๆ ให้เตรียมด้วยการศึกษาไทม์โซนของประเทศที่เราจะไป

โดยการเพิ่มฮอร์โมนเมลาโทนินเข้าไปด้วยการทานยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และพยายามเข้านอนให้ตรงกับเวลากลางคืนของไทม์โซนที่เราจะเดินทางไป เพื่อให้นาฬิกาในร่างกายเกิดการปรับตัว

 

ทั้งนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้ยา นักวิจัย Daniel Forger แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาเจ็ทแลคได้อย่างรวดเร็วกว่าวิธีอื่นถึง 2 เท่า

 

โดยใช้แอพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Michigan ชื่อว่า Entrain ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่จำลองการคำนวณเพื่อกำหนดว่าร่างกายควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากไทม์โซนหนึ่งไปยังอีกไทม์โซนหนึ่งในเวลาที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สำหรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นตัวนี้ เมื่อเราพิมพ์ชื่อไทม์โซนลงไป แอพจะทำการคำนวณตารางเวลา เพื่อบอกว่าเราควรจะทำอะไรในช่วงเวลาต่างๆ

 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

ที่มา bbc

Comments

Leave a Reply