ปัจจุบันรัฐอลาสก้านับว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพราะแม้แต่พระเอกหนังดังขวัญใจฮิปสเตอร์อย่างเรื่อง ‘Into the Wild’ ก็ยังไปตายที่นั่น…
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าครั้งหนึ่งพื้นที่ทั้งหมดของอลาสก้าเคยเป็นของรัสเซีย ก่อนที่จะขายให้สหรัฐฯ ในปี 1867 ด้วยราคา 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 300 ล้านบาท) และสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลให้กับสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา
อลาสก้ายุคก่อนเป็นของสหรัฐฯ
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 อาณาเขตของอลาสก้าที่อยู่ใต้การปกครองของรัสเซีย ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก ในยุคนั้นมีเมืองหลวงที่ชื่อ Novoarkhangelsk (Sitka) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ใช้ในการรับซื้อสินค้าจากจีน เช่นผ้า ถ่านหิน แร่ธาตุ ชา ธัญพืช หรือแม้แต่ทองคำ
นอกจากนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มพ่อค้าชาวรัสเซียจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการส่งออกงาของตัววอลรัส ซึ่งมีราคาสูงพอๆ กับงาช้าง
โดยหลักๆ ในช่วงนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดตกเป็นของ Russian-American Company ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ผูกขาดการค้ามากซะจนสามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ จนช่วงเวลาต่อมาเขตอลาสก้าก็ถูกพัฒนาให้มีการใช้ธงและสกุลเงินเป็นของตัวเอง
ตัวอย่างเหรียญทองส่วนหนึ่งจากอลาสก้าที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนในยุคนั้น
RAC ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของอลาสก้า
Alexander Baranov พ่อค้าหัวใสชาวรัสเซีย ได้เปลี่ยนจากเมืองอลาสก้าที่มีแต่อุตสาหกรรมและเครื่องจักร ให้เพรียบพร้อมไปด้วยสถานศึกษา สถานพยาบาลให้แก่กลุ่มแรงงาน และถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูกให้คนพื้นเมือง
ภายใต้การบริหารงานของเขาทำให้กำไรของบริษัท RAC เติบโตสูงมากขึ้นถึง 1,000 เปอร์เซนต์ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปถึงวัยชราของ Baranov ก็ทำให้เขาต้องลงจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัทที่เป็นเหมือนกลไกหลักสำคัญที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเมืองนี้
จุดเปลี่ยนแปลงของอลาสก้า
Hagemeister นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทคนต่อไป ได้มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะสร้างกำไรให้สูงที่สุด มีการใช้วิธีกดราคาต้นทุนขนสัตว์จากชาวบ้าน
สิ่งที่ตามมาก็คืออีก 20 ปีต่อมาจำนวนประชากรสัตว์ทะเลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สินค้าส่งออกเกิดการฝืดเคืองและพิษเศรษฐกิจก็ค่อยๆ ย้อนกลับมาทำร้ายทั้งชาวบ้านและกลุ่มนายทุนเอง
กลุ่มทุนหลายบริษัทเริ่มถอนตัวออกจากพื้นที่อลาสก้า และต่อมาก็ได้เกิดสงครามไครเมียขึ้น… ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหวา่งฝั่งรัสเซียกับฝั่งพันธมิตรที่ประกอบไปด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ ออตโตมัน และซาร์ดิเนีย
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัสเซียไม่สามารถปกป้องอลาสก้าไว้ได้ เส้นทางการเดินเรือทั้งหมดจึงถูกควบคุมโดยฝ่ายพันธมิตร ถึงกระนั้นกลุ่มทุนหลายฝ่ายก็เกรงว่าทุกสิ่งที่เคยร่วมลงทุนและสร้างลงไปจะกลายเป็นความสูญเปล่า
ด้วยความที่อลาสก้าเป็นเมืองที่เน้นการค้าจึงทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพันธมิตรเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต้องการที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนพื้นที่เขตของอลาสก้าให้อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา
การแลกเปลี่ยนที่กลายเป็นจริง
ในช่วงระหว่างการเจรจาการค้าเกิดเหตุข่าวลือมากมายที่ส่งผลให้กลุ่มทุนระดับเล็กรู้สึกเกรงกลัว ในขณะที่หลายๆ ประเทศก็ยังสงสัยว่าเพราะเหตุใดสหรัฐอเมริกาถึงต้องการพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งแห่งนี้กันนะ?
จนกระทั่งในวันที่ 30 มีนาคม 1867 การทำข้อตกลงสนธิสัญญาซื้อขาย ‘อลาสก้า’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น… โดยรัสเซียยินดีที่จะขายพื้นที่กว่า 1.5 ล้านเฮคเตอร์ให้กับสหรัฐอเมริกาด้วยราคา 7.2 ล้านเหรียญฯ (ราว 300 ล้านบาท)
อาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ ‘อลาสก้า’ ได้กลายเป็นอีกรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ นั้นก็มาจากเหตุผลทางการค้าของกลุ่มทุนที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ไว้ท่ามกลางสถานการณ์ของจักรวรรดิรัสเซียที่เริ่มระส่ำระสายนั่นเอง
แผนที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงโลกตะวันตกและตะวันออกของรัฐอลาสก้า
ถึงจะเทียบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ยังถือว่าถูกมากอยู่ดี เรียกว่าสหรัฐฯ ได้ของดีราคาถูกไปเลยทีเดียว นับว่าเป็นอีกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ให้อ่านเพลินๆ ละกันนะ
ที่มา: RBTH
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.